"ไมโครลิสซิ่ง" อวดรายได้ 138 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวของปีก่อนถึง 38.36% ขณะที่กำไร 51.27 ล้านบาท หรือโต 75.28% ย้ำทิศทางการเติบโตด้วยทีมบริหารมืออาชีพประสบการณ์สูง ชูธุรกิจหลักปล่อยสินเชื่อรถ 10 ล้อ ตั้งเป้าโตขั้นต่ำ 30% ขยายพอร์ตแตะ 4,000 ล้านบาท มั่นใจความต้องการสินเชื่อรถบรรทุกมือสองยังขยายตัว
นายวิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง และสินเชื่อประเภทอื่นที่มีรถบรรทุกมือสองเป็นหลักประกัน เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/2564 โดยบริษัทมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง 107.28 ล้านบาท เป็นสัดส่วนรายได้ 77.50% ของรายได้รวมจากไตรมาส 1/2563 84.42 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 22.86 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 27.08% ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 51.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.02 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 75.28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจัยการเติบโตมาจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัท รวมทั้งรายได้ค่าบริการและค่าธรรมเนียมจากประกันรถและประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดปล่อยสินเชื่อที่เติบโตขึ้น
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ทางบริษัทยังคงจับตาสถานการณ์ และเตรียมแผนรับมืออย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการขยายตัวและการคัดกรองคุณภาพของสินเชื่อ โดยปี 2564 คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตสินเชื่อปี 2564 อยู่ที่ 3,500-4,000 ล้านบาท เติบโตราว 37-57% จากปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้าตามแผนในการขยายสาขาปีนี้เพิ่มอีก 4 สาขา เป็น 16 สาขา จากปี 2563 มี 12 สาขา โดยดำเนินการเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ไปแล้ว 2 สาขา คือสาขาสมุทรปราการและสาขาปทุมธานี ส่วนสาขาที่ 15-16 ปักหมุดเบื้องต้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และในปี 2565 เตรียมเปิดสาขาอีก 4 สาขา ซึ่งเป็นไปตามแผนภายในปี 2565 บริษัทจะขยายสาขาครบ 20 สาขา ทั้งนี้ สาขาที่บริษัทจะขยายเพิ่มจะเน้นจังหวัดที่มีศักยภาพการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มเต็นท์รถบรรทุกมือสอง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อของบริษัท ให้สามารถเติบโตได้ราว 30% ในทุกๆ ปี
ผลงานไตรมาส 1/2564 เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีรายได้เติบโตขึ้น 38.36% กำไรพุ่ง 75.28% ซึ่งแผนการดำเนินธุรกิจปี 2564 และปีหน้า ยังคงเน้นผ่านช่องทางเต็นท์รถเป็นหลัก โดยการเปิดสาขาเพิ่มเพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อใหม่ในปีนี้อีกราว 2,000-2,500 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 8-11% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.8% มองความต้องการสินเชื่อรถบรรทุกมือสองไม่ได้ลดลง แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ใช้รถบรรทุกเพื่อการประกอบอาชีพ และบริษัทยังมีมาตรการคัดกรองคุณภาพของลูกค้า รวมทั้งมาตรการในการดูแลพนักงานที่ออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่อย่างเข้มข้น