WEALTHI แอปพลิเคชันทางด้านการเงินรูปแบบใหม่ เจาะตลาดสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดโอกาสเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ชูจุดเด่นอนุมัติรวดเร็วและแม่นยำ ด้วยระบบวิเคราะห์เครดิตจากข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ภายใต้ใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ ให้วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท ดอกเบี้ย 15-36% ต่อปี ล่าสุด มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 10,000 ราย มียอดปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนมากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี เผยปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากกว่า 14 ล้านคน เชื่อหากช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
นายธวัชชัย อิงบุญมีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท เวลธิเทคฟิน จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์ผ่านแอปพลิเคชัน “WEALTHI” หรือเวลธ์ติ ที่ได้รับใบอนุญาตแก้ปัญหาสินเชื่อรายย่อย หรือพิโกไฟแนนซ์ จากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตแก้ปัญหาสินเชื่อรายย่อย หรือพิโกไฟแนนซ์ จากกระทรวงการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2560 บริษัทฯ ได้ดำเนินการให้บริการสินเชื่อการเงินอเนกประสงค์ผ่านแอปพลิเคชัน “WEALTHI” โดยมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนให้สามารถเข้ามาอยู่ในระบบได้ หลังจากที่เริ่มเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน พบว่าแอปพลิเคชัน WEALTHI ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด ล่าสุด มีผู้ใช้บริการแล้วมากกว่า 10,000 ราย มียอดสินเชื่อหมุนเวียนมากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
โดยสินเชื่อของ WEALTHI นั้นจะให้วงเงินสูงสุด 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (EFFECTIVE RATE) 15-36% ต่อปี มีขั้นตอนการทำงานรวดเร็วอนุมัติเบื้องต้นใน 5 นาที และรอรับเงินภายใน 48 ชั่วโมง สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้นั้นต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพ ทั้งแบบมีรายได้ประจำและอาชีพอิสระ เป็นบุคคลสัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อรวมอายุของผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 65 ปี มีถิ่นที่อยู่แน่นอน มีสถานที่ประกอบอาชีพ สามารถติดต่อได้ มีสมาร์ทโฟน (ระบบ Android และ iOS) และต้องมีบัญชีเฟซบุ๊ก ส่วนเอกสารประกอบการกู้มีเพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารแสดงรายได้ในการประกอบอาชีพ สมุดบัญชีเงินฝาก และสำเนาหน้าสมุดบัญชีที่จะใช้ในการรับเงิน
สำหรับจุดเด่นของ WEALTHI ที่แตกต่างจากผู้ให้บริการทั่วไป คือการพัฒนาระบบการให้คะแนนเครดิตโดยใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) เช่น ข้อมูลบนสมาร์ทโฟน มาประเมินความเสี่ยงเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการความสะดวก และลดความยุ่งยากในการสมัครขอสินเชื่อ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดระยะเวลาในการสมัคร อนุมัติรวดเร็ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล โดยดำเนินการตามหลักการที่ถูกต้องตามกฎหมายในกระบวนการแก้ปัญหาให้ผู้ไม่มีประวัติทางด้านการเงินที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ
"จากข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ทำการสำรวจไว้ พบว่า มีคนไทยประมาณ 14 ล้านคนที่ลงทะเบียนในโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย คิดเป็นจำนวน 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของประเทศไทย ดังนั้น หากมีช่องทางช่วยเหลือให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนก็จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง"