เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เผยโควิด-19 ระลอก 3 และการกระจายวัคซีน กดดันตลาดหุ้นไทยต่ำ 1,600 จุด มาเกือบ 2 เดือน โดยมีช่วงเหวี่ยงถลาลงมาแถว 1,540-1,550 จุด เป็นครั้งที่ 4 และเป็นการทดสอบน้ำใจของเส้นค่าเฉลี่ย 75 วัน อันเป็นอาวุธมาตรฐานชิ้นหนึ่งของนักเทรดที่ใช้เส้นกราฟเป็นองค์ประกอบการกะเก็งจังหวะเข้าหรือออก
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า โควิด-19 ระบอก 3 ของไทยที่ยืดเยื้อมานาน และการยังรอวัคซีนล็อตใหญ่ของไทย เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นไทยต้องเคลื่อนไหวใต้ระดับ 1,600 จุด มาเกือบ 2 เดือน โดยมีช่วงเหวี่ยงถลาลงมาแถว 1,540-1,550 จุด เป็นครั้งที่ 4 และเป็นการทดสอบน้ำใจของเส้นค่าเฉลี่ย 75 วัน อันเป็นอาวุธมาตรฐานชิ้นหนึ่งของนักเทรดที่ใช้เส้นกราฟเป็นองค์ประกอบการกะเก็งจังหวะเข้าหรือออก
นอกจากนี้ กระแสความกังวลตัวเลขเงินเฟ้อของโลกที่เริ่มกลับมาจุดสนใจอยู่ที่สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. ดีดตัวขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายเดือนและเมื่อเทียบรายปีดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งทั้ง 2 แบบสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ นักลงทุนจึงเริ่มกังวลว่า เฟดจะเบาไม้เบามือในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน
เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน มองว่า ไม่ได้กังวลตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวมากนัก เพราะส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ช่วงเดือน เม.ย.ปีนี้ได้ฟื้นตัวขึ้นมามาก เมื่อเทียบกับฐานปีก่อนซึ่งมีจุดต่ำสุดอยู่แถวเดือน เม.ย.2563 เมื่อรอไปสัก 2-3 เดือน ฐานเปรียบเทียบจะเลื่อนต่อไป ตัวเลข CPI ก็น่าจะเบาลง
อย่างไรก็ตาม หากไปพิจารณาในประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ก็มีความเหมาะสมหลายประการที่ในไม่เกินปลายปีนี้ที่เฟดจะถึงเวลาเบาไม้เบามือมาตรการผ่อนคลายเสียที
ปัจจุบันนี้สหรัฐฯ สามารถลดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันลงมาได้อย่างมาก และสามารถฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้อย่างชัดเจน จนล่าสุดคาดกันว่าปี 2564 GDP ของสหรัฐฯ จะเติบโตถึง 6.5% เป็นเอาคืนทบต้นทบดอกจากการติดลบ 3.5% ในปี 2563 ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 รวมถึงดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน ก็ทะยานสูงไปกว่าระดับต้นปี 2563 ก่อนถูกโควิด-19 เข้าถล่มด้วยซ้ำไป มีเพียงอัตราดอกเบี้ยเฟดเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยต้านการขึ้นของราคาหุ้นบ้างเป็นระยะเมื่อนักลงทุนนึกขึ้นได้
ขณะที่ประเทศไทยยังต้องรับมือกับโควิด-19 อีกสักระยะและยังรอวันเวลามีวัคซีนล็อตที่ใหญ่ พร้อมแนะหากนักลงทุนยังมีพอร์ตหุ้นไทยน้อยน่าจะเริ่มทยอยเก็บหุ้นดีที่ได้ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 1 ที่ดี แนะนำให้แบ่งพอร์ตในหุ้นไทยที่ 20% และให้เพิ่มเป็น 25% ที่ 1,500 จุด และครั้งนี้ขอเพิ่มเติมที่ระดับ 1,450 จุด ถือหุ้นไทยเป็น 30% ส่วนกองทุนหุ้นต่างประเทศที่แนะนำไว้ที่ 15% นั้น ช่วงที่หุ้นโลกกลัวเงินเฟ้อแล้วปรับลงน่าจะเพิ่มน้ำหนักเป็น 20% โดยต้องช้อนหุ้นตอนตก ของตลาดสหรัฐฯ ด้วย เพราะไบเดน ผลงานดีเกินคาด
ด้านทองคำที่เดิมแนะนำไว้ที่ 15% หากราคาไทยแตะ 27,200 บาท และมีกำไร แนะทำกำไรออกเหลือ 12% ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ชั้นดีเดิมมี 50% ก็จะลดไปถือหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศตามเกณฑ์ข้างต้นจะเหลือ 40%
สำหรับหุ้นไทย ขอแนะโดยย่อให้ดูหุ้นที่ประกาศผลดำเนินงานที่ดี และมีบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในหมวดพลังงาน ธนาคารเอกชน วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง เป็นต้น