xs
xsm
sm
md
lg

STGT เทรดตลาดสิงคโปร์ หวังดูดนักลงทุนภูมิภาค-ยกระดับตลาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศรีตรังโกลฟ์ฯ เดินหน้าเทรดในตลาดหุ้นสิงคโปร์ตามแผน หวังขยายฐานผู้ถือหุ้นให้เป็นที่รู้จักและดึงนักลงทุนระดับภูมิภาค พร้อมกลไกการโอนหุ้น เพื่อให้หุ้นของบริษัทฯ โอนหุ้นระหว่างตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ได้ โบรกฯ มอง STGT รับผลดีจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ดีมานด์-ราคาขายพุ่งหนุนผลงานโตกระโดด

ปี 2563 เป็นปีที่มีการระบาดหนักของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต รวมถึงระบบเศรษฐกิจทั่วโลก จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนัก ราคาหุ้นที่เทรดในกระดานล้วนดิ่งเหวเพราะผลประกอบการตกต่ำ หนำซ้ำบางธุรกิจต้องปิดตัวลง ทำให้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งประสบภาวะขาดทุน บริษัทน้องใหม่ที่ต้องการระดมทุนหลายแห่งลังเล ขณะเดียวกัน ก็มีหลายบริษัทที่ยังคงเดินหน้าระดมทุน นำหุ้นเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET ตามแผน

บริษัท ศรีตรังโกลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT คืออีกหนึ่งบริษัทที่เข้าจดทะเบียนใน ซึ่งเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 63 จำนวน 432.78 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนทั่วไป ในราคาหุ้นละ 34 บาท ราคาพาร์ 1 บาท มีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 67 เท่า โดยบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

โดย STGT การเสนอขายหุ้นไอพีโอ 438.78 ล้านหุ้น แบ่งจัดสรรคือเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป 432.78 ล้านหุ้น เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA 2 ล้านหุ้น และเสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย (โครงการ STGT ESOP) 10 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามโครงการ STGT ESOP ครั้งแรก ณ วัน IPO 4 ล้านหุ้น และส่วนที่เหลืออีก 6 ล้านหุ้น จะถูกเสนอขายในปีที่ 1-2 ภายหลังวันไอพีโอ ส่วนหุ้นที่เหลือจากการจัดสรรในส่วนที่ 2 และ 3 (ถ้ามี) เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ STGT ณ วันที่ 2 ธ.ค.62 ประกอบด้วย บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA 725,037,300 หุ้น คิดเป็น 73.2% หลังเสนอขายหุ้น IPO สัดส่วนจะลงเหลือ 50.7% บริษัท รับเบอร์แลนด์โปรดักส์ จำกัด (RBL) 77,663,400 หุ้น คิดเป็น 7.8% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 5.4% และกลุ่มครอบครัวสินเจริญกุล 89,285,900 หุ้น คิดเป็น 9.0% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 6.3% ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 เม.ย. 64 STA 1,450,074,600 หุ้น หรือ 50.75% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 179,741,395 หุ้น หรือ 6.29% บริษัท รับเบอร์แลนด์ โปรดักส์ จำกัด 155,326,800 หุ้น หรือ 5.44% นายไวยวุฒิ สินเจริญกุล 139,418,400 หุ้น หรือ 4.88% และบริษัท ศรีตรัง โฮลดิ้งส์ จำกัด 106,753,800 หุ้น หรือ 3.74%

หุ้นน้องใหม่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 3 ปี

STGT เข้าตลาดหลักทรัพย์เทรดวันแรก เมื่อ 2 ก.ค. ด้วยความคึกคักสุดเหวี่ยง เพราะนักลงทุนแห่เก็งกำไรเคาะซื้อขายกันสนั่นกลายเป็นหุ้นน้องใหม่ตัวแรกในรอบ 3 ปีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดวันแรกของการเข้าเทรดพบว่าหุ้น STGT ปิดเทรดที่ 60.50 บาท เพิ่มขึ้น 26.50 บาท หรือ 77.94% จากราคาขาย IPO ที่กำหนดไว้หุ้นละ 34 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 17,255.29 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 55.25 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 60.75 บาท และต่ำสุดที่ 55.25 บาท ก่อนจะอ่อนตัวลงมาปิดที่ 60.50 บาท สูงกว่าจอง 26.50 บาท หรือ 77.94% ถือเป็นหุ้นจองตัวสุดท้ายของปี 63 ซึ่ง STGT พิสูจน์ความแข็งแกร่งในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทสู่วิกฤต “โควิด-19” และโชว์ฟอร์มได้ยอดเยี่ยม เพราะใครได้โควตาจองร่ำรวยกันถ้วนหน้า แถมในวันดังกล่าวยังมีรายการบิ๊กล็อต STGT 3 รายการ เทรดในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 34 บาท ดังนั้น จึงนับเป็นเป็นหุ้นน้องใหม่ตัวแรกที่เข้ามาซื้อขาย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง STGT ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ในฐานะกิจการที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤต “โควิด-19” เพราะปริมาณความต้องการถุงมือในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้แนวโน้มผลประกอบการสดใส และบริษัทแม่อย่างกลุ่ม STA ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน STGT

ทั้งนี้ หลังจากเข้าเทรดในตลาดราคาหุ้น STGT ยืนในระดับสูงกว่าราคาจองมาตลอด โดยเฉพาะปีนี้ราคาหุ้นเทรดเหนือ 70 บาทยาวมา และเพิ่งจะลดลงมาที่ 38-41 บาทในเดือน พ.ค.ปีนี้เอง นั่นเพราะผลจากความร้อนแรงของหุ้น STGT เป็นการกระตุ้นความสนใจในหุ้นจองมากขึ้น เพราะ STGT ได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนถ้วนหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า ธุรกิจถุงมือยางยังสดใสต่อเนื่องใน 2 ปีข้างหน้า ราคาหุ้นจึงมีช่องว่างทำกำไร แม้ค่าพี/อี เรโช จะสูงลิบก็ตาม

สำหรับการแผนการระดมทุนครั้งนี้ของ STGT เพื่อนำไปใช้ขยายกำลังการผลิตเป็นหลัก การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาระบบไอที ติดตั้งระบบ SAP ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพราะ STGT เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่น โดยได้รับอานิสงส์จากวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้น จนผลิตไม่ทันตามความต้องการของตลาดโลก ขณะที่ราคาสินค้าที่จำหน่ายปรับตัวขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้คาดหมายว่า ยอดการขายและกำไรจะเติบโตสูง เพราะ STGT เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่สุดในไทยและอันดับ 3 ของโลก อีกทั้งได้เปรียบเรื่องต้นทุนน้ำยางข้นที่มี STA เป็น supplier หลัก โรงงานอยู่ใกล้กัน ประหยัดค่าขนส่ง

ดึงคำนวณดัชนี MSCI คาดเข้า SET50 - SET100

ต้องยอมรับว่า หุ้น STGT มาแรงจริงเพราะหลังจากเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ ก็ถูกคัดเลือกให้เข้าไปคำนวณดัชนี MSCI มีผลในวันที่ 30 พ.ย.63 อีกทั้งกองทุน EMPLOYEES PROVIDENT FUND จากมาเลเซีย ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่เข้ามาซื้อหุ้นเข้าพอร์ตเพิ่มอีกรวมถืออยู่ราว 73 ล้านหุ้น หรือ 5.1085% ล่าสุด นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าหลักทรัพย์ STGT จะถูกดึงเข้าไปคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 ที่กำลังจะประกาศออกมา

สิ่งสำคัญที่ทำให้ STGT เนื้อหอมเพราะผลการดำเนินงานเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง และผลงานปี 2563 ถือเป็นปีที่สามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ ทั้งในด้านกำไรสุทธิและรายได้รวม โดยมีกำไรสุทธิ 14,401 ล้านบาท เติบโต 2,246% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 614 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 30,405 ล้านบาท เติบโต 154% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้รวม 11,994 ล้านบาท ซึ่งผลงานโดดเด่นทุกไตรมาส โดยเฉพาะไตรมาส 4 ทำกำไรสุทธิ 8,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,602% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 181 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 13,646 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 335% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 3,138 ล้านบาท อันเป็นผลดีจากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.6 แสนล้านชิ้นต่อปี และมีดีมานด์กระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม จากเดิมที่ใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก

ดังนั้น จึงทำให้ STGT มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับซัปพลายทั่วโลกยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยางในตลาดโลกปรับขึ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากผลงานที่เติบโตต่อเนื่องทำให้บอร์ดอนุมัติจ่ายเงินปันผลอีกหุ้นละ 2 บาทต่อหุ้น หลังจากปันผลระหว่างกาลไปแล้วหุ้นละ 0.625 บาท เท่ากับจ่ายปันผล 2.625 บาทต่อหุ้น

นำหุ้นเทรดกระดานสิงคโปร์ดูดนักลงทุน

หลังจาก STGT เข้าเทรดในตลาดหุ้นไทยแล้วก้าวต่อไปคือการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST) (ประเภท Secondary Listing by way of Introduction) และเมื่อ 3 พฤษภาคม 2564 STGT ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST) (Eligibility to List) จากตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGx-ST) สมดังหมาย

อย่างไรก็ดี ในการเทรดวันแรกที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์พบว่า ราคาหุ้น STGTเคลื่อนไหวในกรอบ 2.02-1.99 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 46.57-47.27 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสิงคโปร์ เท่ากับ 23.47 บาท) ขณะที่ราคาหุ้น STGT ที่เทรดในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 45.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท (+0.55%) มูลค่าซื้อขาย 913.64 ล้านบาท เมื่อเวลา 15.30 น.

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ กล่าวว่า หุ้น STGT ที่เข้าไปเทรดในตลาดสิงคโปร์วันแรก ซึ่งไม่มีการออกและเสนอขายหุ้นใหม่ แต่โดยหลักจะเป็นการนำหุ้นของผู้ถือหุ้นบริษัทฯ (ครอบครัวสินเจริญกุล) โอนไปยังตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวราคาหุ้น STGT เคลื่อนไหวในกรอบ 1.99-2.02 เหรียญสิงคโปร์ ซึ่งราคาเคลื่อนไหวไม่แตกต่างจากราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยมากนัก อาจจะแตกต่างกันที่ค่าธรรมเนียมและค่าเงิน ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิด Arbitage ได้ 

การที่ STGT ไปเทรดในตลาดสิงคโปร์อาจต้องการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อการขยายตลาดการค้าเป็นหลัก ดังนั้น นักลงทุนไทยไม่จำเป็นจะต้องไปเทรดหุ้นตัวนี้ที่ตลาดสิงคโปร์ เพราะเทรดที่ไทยจะดีกว่า ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้คาดว่าจะออกมาดีอยู่แล้ว จากความต้องการใช้ถุงมือยางที่ยังสูงอยู่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดในประเทศ

โดย STGT คาดว่าจะเริ่มทำการโอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อทำการซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากครอบครัวสินเจริญกุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ติดหลักเกณฑ์ Blackout Period ห้ามซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ ในช่วง 30 วันก่อนประกาศงบการเงินประจำไตรมาส และ 1 วันภายหลังจากประกาศงบการเงินประจำไตรมาส

ขณะที่ STGT จะออกเอกสารเกี่ยวกับบริษัทฯ ซึ่งจะเปิดเผยในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST) โดยเอกสารจะประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวนของบริษัทฯ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2563 และตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1) ของบริษัทฯ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งหลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST) กำหนดให้บริษัทฯ ต้องยื่นข้อมูลทางการเงินดังกล่าว โดยต้องเป็นข้อมูลในระยะเวลาไม่เกินกว่า 60 วัน ก่อนวันยื่นเอกสารเกี่ยวกับบริษัทฯ ดังนั้น ช่วงระยะเวลาของการออกเอกสารเกี่ยวกับบริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นรอบบัญชีและต้องผ่านการสอบทานก่อน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศไทยได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันเพื่อประกอบการตัดสินใจการลงทุนในหลักทรัพย์ในเวลาที่เหมาะสม และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลทางการเงินต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศไทยก่อน คาดเปิดเผยในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564

น.ส.จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT กล่าวว่า การเทรดในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ จะส่งผลดีต่อการขยายฐานผู้ถือหุ้นให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น หลังเข้าจดทะเบียนและซื้อขายหลักทรัพย์ SET เพื่อให้มีช่องทางระดมทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต และยกระดับหุ้น STGT ให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนในระดับภูมิภาค อีกทั้งกลไกการโอนหุ้น เพื่อให้หุ้นของบริษัทฯ ที่จดทะเบียนใน 2 ตลาดสามารถโอนหุ้นระหว่างตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งเพื่อทำการซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ได้

ขณะปีนี้ตั้งเป้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณการขายถุงมือยางรวม 32,000 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 14% จากปี 63 ที่มีปริมาณการขายเกือบ 30,000 ล้านชิ้น โดยมีแผนงานเดินเครื่องจักรโรงงานใหม่อีก 4 แห่งปีนี้ ขณะที่ภาพรวมตลาดถุงมือยางทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คาดความต้องการใช้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ








กำลังโหลดความคิดเห็น