xs
xsm
sm
md
lg

"อาคม" ร่วมประชุม ASEAN+3 หนุนเปลี่ยนผ่านสู่ ศก.ดิจิทัล-ปรับปรุงระบบภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คลัง และผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอาเซียน+3 ร่วมประชุมออนไลน์ มุ่งยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินท่ามกลางโควิด-19 หนุนเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การปรับปรุงระบบภาษี และส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM+3) ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ในรูปแบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางสาธารณรัฐเกาหลีและบรูไนดารุสซาลาม เป็นประธานร่วม โดยได้หารือประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 สรุปได้ดังนี้


1.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเศรษฐกิจจากผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ซึ่งเห็นพ้องว่า ทิศทางเศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาคจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปี 2564 เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6 และในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4 ขณะที่ AMRO คาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียน+3 จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 และร้อยละ 4.9 ในปี 2564 และ ปี 2565 ตามลำดับ อีกทั้งคาดว่าประเทศไทยจะเติบโตที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2564 และร้อยละ 4.8 ในปี 2565 โดยทั้ง 3 องค์กรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในทิศทางเดียวกัน คือ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ควรมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม มีเสถียรภาพและยั่งยืนเป็นสำคัญ เช่น สร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนทั่วถึงโดยเร็ว สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation) สนับสนุนการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ (Domestic Resources) ปรับปรุงระบบภาษีและความร่วมมือทางภาษี และส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นต้น

นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวเน้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 พัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ให้ครอบคลุมและไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในภูมิภาค ควบคู่กับความเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เพื่อเปิดประตูสู่โลกใหม่ของการชำระเงิน ลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคต่อไป


2.มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) ที่ประชุมยินดีกับความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพของ CMIM โดยความตกลง CMIM ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งจะทำให้สมาชิกได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF (De-linked Portion) เพิ่มมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินที่จะได้รับความช่วยเหลือสูงสุด อีกทั้งประเทศสมาชิกยังสามารถใช้เงินสกุลท้องถิ่นสมทบเงินใน CMIM ได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการกำหนดทิศทางการเพิ่มประสิทธิภาพ และการปรับปรุงเอกสารแนวปฏิบัติเพื่อใช้ประกอบความตกลง CMIM

3.มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative : ABMI) ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของ ABMI เพื่อส่งเสริมตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เช่น การดำเนินการของหน่วยงานการค้ำประกันเครดิตและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน+3 (Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF) การใช้ตราสารหนี้เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


4.ทิศทางการดำเนินการในอนาคตของกรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ที่ประชุมได้รับทราบการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาความเป็นไปได้ของมาตรการริเริ่มใหม่ๆ เช่น การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือทางการเงินให้ครอบคลุม และส่งเสริมความเจริญเติบโตของภูมิภาคอาเซียน+3 และสอดคล้องกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ในการนี้ นายอาคม ได้กล่าวในที่ประชุม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน และสนับสนุนการพัฒนาพันธบัตรของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยการส่งเสริมการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการออกพันธบัตรดังกล่าว โดยขณะนี้พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนนี้ได้รับการจดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก และมีการออกพันธบัตรแล้วทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท โดยจะนำเงินที่ได้จากพันธบัตรไปใช้เป็นเงินทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศจาก COVID-19 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีแผนที่จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมอีกในระยะต่อไป

การประชุม AFMGM+3 ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ในการพัฒนาและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันที่เร่งให้มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเสียหายของชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 พร้อมทั้งส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และการเป็นเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.0-2273-9020 ต่อ 3622


กำลังโหลดความคิดเห็น