xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นเอเชียปรับบวกตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ รับข้อมูล ศก.สหรัฐฯ สดใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหุ้นเอเชียเปิดในแดนบวกตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (23 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของสหรัฐฯ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหลายตัวพุ่งขึ้นจากการคาดการณ์ที่ว่า บริษัทต่างๆ จะรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในสัปดาห์หน้า

ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,484.11 จุด เพิ่มขึ้น 9.94 จุด หรือ +0.29%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 29,095.49 จุด เพิ่มขึ้น 74.86 จุด หรือ +0.25% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 29,106.45 จุด เพิ่มขึ้น 27.7 จุด หรือ +0.10%

ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตและบริการที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 20.7% สู่ระดับ 1.021 ล้านยูนิตในเดือน มี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 886,000 ยูนิต หลังจากดิ่งลง 16.2% ในเดือน ก.พ. และราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 0.8% สู่ระดับ 330,800 ดอลลาร์ในเดือน มี.ค.

ส่วนไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ดีดตัวสู่ระดับ 62.2 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 59.7 ในเดือน มี.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะขยายตัวทั้งภาคการผลิตและบริการ

นักลงทุนยังคงจับตายอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอินเดีย โดยกระทรวงสาธารณสุขอินเดียเปิดเผยวานนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 349,691 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นเป็น 16,960,172 ราย และนับเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินกว่า 300,000 รายในวันเดียว ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้ขยายคำสั่งล็อกดาวน์กรุงนิวเดลีจากเดิมจะสิ้นสุดลงวันที่ 26 เม.ย. ออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ถึงวันที่ 3 พ.ค. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 27-28 เม.ย.นี้ หลังจากที่เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมเดือน มี.ค.ระบุว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น