รมว.คลัง เตือนหนี้ครัวเรือน-ภาวะการออมของคนไทยยังเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ชี้ช่วงโควิด-19 หนี้ครัวเรือนพุ่ง 86.6% พร้อมแนะ 5 แนวทางพัฒนาตลาดเงิน-ตลาดทุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แสดงปฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน (Financial Literacy)" ในพิธีเปิดโครงการ "Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย" โดยระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมาที่ระดับ 86.6% ของจีดีพีในไตรมาส 3/63 จากก่อนหน้าอยู่ที่ 78.9% ของจีดีพี สะท้อนภาวะวิกฤตและความเปราะบางในด้านสถานะทางการเงินของคนไทยในปัจจุบัน
ขณะที่ประเทศไทยเริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นภายในปี 66 ซึ่งจะมีจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรรวม ทำให้การวางแผนทางการเงินและการออมรองรับยามเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมและเร่งในการปฏิบัติ เพื่อให้คนไทยมีเงินรองรับเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณโดยไม่ต้องพึ่งพิงลูกหลาน และไม่จำเป็นต้องทำงานต่อ ซึ่งในปัจจุบันคนไทยในวัยเกษียณส่วนใหญ่กว่า 90% ยังคงต้องพึ่งพาบุตรหลาน และยังต้องทำงานอยู่ และมีเพียง 2.3% เท่านั้นที่เป็นกลุ่มที่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้
ด้านภาวะการออมของคนไทยยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายก่อนออม มากกว่าการออมก่อนใช้ ทำให้สัดส่วนคนที่มีเงินออมไม่เพียงพอรองรับในวัยเกษียณสูงกว่า 70% เรื่องดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลต่อความเปราะบางของสถานะทางการเงิน อีกทั้งประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้และทักษะทางการเงินมากเท่าที่ควร ทำให้ไม่เข้าใจในเรื่องการออมและการใช้จ่ายที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ แผนงานของกระทรวงการคลังมุ่งเป้าพยายามที่จะทำให้คนไทยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น มีทักษะและความรู้ด้านการเงินที่ดี และสนับสนุนการออมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถมีเงินออมเพียงพอรองรับในวัยเกษียณ โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันในการหาแนวทางในการสร้างวินัยทางการออม และสร้างทางเลือกในการลงทุนให้แก่ประชาชน ทำให้มีช่องทางการออมที่หลากหลายและสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ ซึ่งได้มีการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนในการยกระดับและพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ของตลาดเงินและตลาดทุน เพิ่มทางเลือกในการลงทุนต่างๆ เพิ่มมาขึ้น เพื่อทำให้คนไทยมีทางเลือกในการออมที่หลากหลายมากขึ้น
พร้อมกับให้หน่วยงานต่างๆ นำเสนอการให้ความรู้ที่เพิ่มพูนและเสริมสร้างทักษะทางการเงินของไนไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญให้คนไทยสามารถเข้าใจความรู้ทางการเงินได้มากขึ้น เป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่คนไทยในด้านการวางแผนทางการเงิน การออม และการลงทุน ส่งผลให้คนไทยสามารถเกษียณได้อย่างมีความสุข