ธอส.เผยตัวเลขปล่อยสินเชื่อใหม่ไตรมาสแรกลดลง 10.79% เหตุผลลูกค้าชะลอซื้อบ้าน ผลพวงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวเลข NPL ขยับสูงขึ้นจากลูกหนี้ครบกำหนดไม่เข้าโปรแกรมพักหนี้ และประสบปัญหารายได้ ระบุไม่กังวล หลังตั้งสำรองเผื่อ NPL ระดับ 100,502 ล้านบาท เงินกองทุนฯ แข็งแกร่งระดับ 15.60%
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงภาพรวมการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.64) ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี ส่งผลให้ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อสามารถทำได้ 46,847 ล้านบาท จำนวน 29,945 บัญชี ลดลง 10.79%
โดยแบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 20,686 ล้านบาท และสำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อวงเงินเกิน 2 ล้านบาท จำนวน 26,161 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,346,920 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 54,857 ล้านบาท คิดเป็น 4.07% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งมี NPL อยู่ที่ 47,572 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.60% ของสินเชื่อรวม
โดยจำนวน NPL ที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นจากลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่ครบมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 1 และไม่ต่อมาตรการช่วยเหลือของธนาคารระยะที่ 2 ประกอบกับมีลูกค้าบางส่วนที่ยังประสบปัญหาด้านรายได้ จำนวน 3,098 ล้านบาท และอีกประมาณ 122 ล้านบาท เป็นลูกค้าที่มาจากการรับโอน Port ลูกหนี้ หลังการควบรวมกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ บตท. ที่มีสถานะ NPL ที่ยุบเลิกกิจการเพื่อโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ทุน และภาระผูกพันของ บตท. ให้แก่ ธอส.
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ด้วยมาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ และการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือให้แก่ลูกค้าเดิมที่เคยอยู่ในมาตรการปี 2563 โดยภายหลังจากปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขยายความช่วยเหลือเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้น 117,765 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 112,694 ล้านบาท โดยมีลูกค้าถึง 103,587 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 98,128 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ที่มีสถานะการผ่อนชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ
ส่วนการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในมาตรการที่ 2 พักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 ที่เปิดให้ลงทะเบียนในระหว่างวันที่ 1-29 มีนาคม 2564 พบว่ามีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้น 5,285 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 5,364 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงถึง 100,502 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ในอนาคต หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 183% สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงและความพร้อมในการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ในอนาคต และถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกที่มีการตั้งสำรองในระดับสูงเกิน 100,000 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 15.60% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 3,300 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของโครงการบ้านล้านหลัง เฟส 2 กรอบวงเงินรวมประมาณ 40,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-4 ปีแรก เท่ากับ 1.99% ต่อปี ระยะเวลาการกู้สูงสุด 40 ปี สามารถเลือกการผ่อนชำระได้ 2 ทางเลือก เช่น กรณีกู้ 1.2 ล้านบาท ทางเลือกที่ 1 ผ่อนชำระเงินงวดคงที่ 1-4 ปีแรก อยู่ที่ 3,900 บาทต่อเดือน หรือทางเลือกที่ 2 ผ่อนชำระคงที่ 7 ปีแรก อยู่ที่ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งธนาคารเตรียมจะเสนอให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณา หากเห็นชอบธนาคารจะเร่งนำส่งให้กระทรวงการคลังเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและกำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินโครงการระยะที่ 2 ต่อไป
ส่วนความความสำเร็จในการยกระดับการพัฒนาบริการด้านดิจิทัล ทั้งบริการทางการเงินและสินเชื่อผ่าน Application : GHB ALL ภายใต้โครงการ G H Bank New Normal Services ที่เริ่มให้บริการตามแผนของโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2563 และปัจจุบันมีบริการรวมทั้งสิ้น 15 บริการ ประกอบด้วย
1.ซื้อ-ตรวจสลากออมทรัพย์ ธอส. ดิจิทัล 2.ใบเสร็จรับชำระเงินกู้ 3.ขอ Statement เงินฝาก 4.จองคิวทำธุรกรรมที่สาขาได้ล่วงหน้า 5.เปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว 6.ผ่อนดาวน์ทรัพย์ NPA 7.เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์
8.กู้เพิ่มเพื่อชำระหนี้ที่อยู่อาศัยและ NCB Request (e-Consent) 9.หนังสือรับรองเพื่อเบิกค่าเช่าบ้าน 10.หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ 11.หนังสือรับรองภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
12.ขอสำเนาเอกสารสัญญากู้/จำนอง/โฉนด 13.นัดรับโฉนด 14.สมัคร Application : GHB ALL ด้วยตัวเอง และ15.การโอนเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติหลังทำนิติกรรม และจะเพิ่มบริการใหม่อีก เช่น การแจ้งข้อมูลระยะเวลาคุ้มครองประกันอัคคีภัย การชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย และปลดล็อก Application : GHB ALL โดยไม่ต้องไปสาขา (กรณีเปลี่ยนเครื่อง/เปลี่ยนซิม) เพื่อยกระดับสู่การเป็น Digital Service Bank ในปี 2564 และก้าวเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบในปี 2566
และล่าสุด ธนาคารยังเตรียมเปิดช่องทางการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่บน Application LINE โดยใช้ชื่อว่า GHB Buddy ซึ่งจะทำหน้าที่แจ้งเตือนความเคลื่อนไหวบัญชีของลูกค้าเป็นรายบุคคลในธุรกรรมฝาก-ถอน-โอน-ชำระเงินกู้-เตือนชำระเงินกู้-ถูกรางวัลสลากออมทรัพย์ และจะเริ่มเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายน 2564
ขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้จัดทำโครงการ G H Bank Smart NPL เพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ต้องการประนอมหนี้ สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (SM) และกลุ่มหนี้เสีย (NPL) โดยไม่ต้องเดินทางมายื่นเรื่องขอประนอมหนี้ที่ธนาคาร โดยสามารถดำเนินการได้ง่ายๆ ผ่าน Application : GHB ALL ด้วยการเลือกรายการ G H Bank Smart NPL และอัปโหลดเอกสารที่แสดงผลกระทบทางรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่ายกิจการ หรือ Statement เพื่อได้รับการพิจารณาปรับลดเงินงวดผ่อนชำระเป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองในราคาที่คุ้มค่า และทำเลที่เหมาะสม ด้วยการเพิ่มช่องทางในการซื้อขายบ้านมือสองให้ประชาชน กับโครงการ G H Bank Marketplace รับเป็นตัวกลางรับฝากขายบ้านมือสอง ผ่านทาง www.ghbhomecenter.com และ Application : G H Bank Smart NPA รวมถึงนำออกประมูลออนไลน์ที่มีเป็นประจำทุกเดือน โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ธนาคารสามารถจำหน่ายทรัพย์ NPA ได้แล้วเป็นจำนวนถึงกว่า 1,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการจำหน่ายทรัพย์ทั้งปีที่ 4,000 ล้านบาท