รมว.คลังยืนยันขยายเวลาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ออกไป หลังไทยได้รับผลกระทบโควิด-19 ปลอบใจนักลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ผลักดันจีดีพีเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 4
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “เทรนด์อสังหาฯ ยุคโควิด ปีทองผู้ซื้อ?” ยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อเริ่มฉีดวัคซีน จึงเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น สำหรับไทยยังต้องใช้เวลาในการผลิตเพิ่มอีก 30 ล้านโดส ขณะที่การแพร่ระบาดในโซนสีแดงเริ่มคลี่คลายลง คณะรัฐมนตรีเริ่มผ่อนคลายการเปิดประเทศชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เช่น จ.ภูเก็ต เกาะสมุย เมืองพัทยา เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้มีใบรับรองวัคซีนพาสปอร์ต และยกเลิกมาตรการกักตัวเมื่อฉีดครบโดส หวังเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนกันยายนนี้ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งยังขยายเวลาให้ปีต่อปีเหมือนเดิม เพราะประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยในปีนี้ยังเป็นปีของการศึกษาโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 1 ปี เพื่อดูว่าต้องปรับโครงสร้างอย่างไรบ้าง หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นห่วงรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐ เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ต้องยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เป็นเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก ในส่วนของไทยการเบิกจ่ายเงินยังเป็นไปตามปกติ ไม่มีปัญหา และเมื่อถึงเดือนมิถุนายน ครบกำหนดในการยื่นแบบภาษีประจำปี 2563 ต้องมาดูว่ารายได้ภาษีเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อพิจารณาแผนบริหารจัดการรายได้
ขณะที่การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน คาดการณ์จีดีพีของไทยในปี 2564 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5-3.5 ต่ำกว่าหลายประเทศ แต่ได้แจ้งในที่ประชุมว่า รัฐบาลไทยต้องการให้เติบโตด้วยคุณภาพ ในเชิงเทคนิคเมื่อจีดีพีในปี 63 หดตัวต่ำมาก ดังนั้น ในปี 2564 จึงคาดการณ์ว่า ต้องเติบโตสูงอีกร้อยละ 4.5-5.5 การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นจะเริ่มขยายตัวเต็มที่ในปี 2566-2567 ผ่านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ การตั้งเป้าหมายจีดีพีเติบโตร้อยละ 4 ต้องมาจากปัจจัยการบริโภคภาคเอกชน การก่อสร้างภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน เมื่อได้ออกหุ้นกู้ 400,000 ล้านบาท นับว่าเป็นการเตรียมตัวสำหรับการลงทุนในประเทศ อีกปัจจัยคือ การส่งออกและการท่องเที่ยว นับเป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างไร สำหรับการช่วยเหลือระยะสั้นผ่านโครงการเยียวยา ทั้งคนละครึ่ง เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน
"ยอมรับว่าไทยยังมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบสูงถึง 2-2.5 ล้านล้านบาท เพราะคนไม่กล้าใช้จ่ายในช่วงปัญหาโควิด-19 จึงฝากในธนาคารชั่วคราวหรือลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนการดึงเงินเหล่านี้ออกมาใช้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรเพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการรัฐ การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ต้องเน้นการออกแบบเพราะเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาสร้างบ้าน อีกทั้งภาครัฐต้องอำนวยความสะดวกจุดจอดรถต้องมองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า หรือการก่อสร้างโครงการภาครัฐ การออกมาตรการดูแลภาคอสังหาฯ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนอง กระทบจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลติดตามปัญหาอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด พร้อมหามาตรการมาดูแล สำหรับเลื่อนการจัดเก็บภาษีและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประมาณ 10,000 ล้านบาท เยียวยาจากรายได้ขาดหายไป 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น" นายอาคม กล่าว
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระบบนับว่าต่ำมาก นับเป็นโอกาสเหมาะในการมองหาบ้านอยู่อาศัยของผู้มีความพร้อม โครงการบ้านล้านหลังระยะ 3 ปี กำลังจะครบกำหนดในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จึงเตรียมเสนอคณะกรรมการธอส.พิจารณาขยายเวลาโครงการบ้านล้านหลังเฟส 3 เตรียมวงเงินสินเชื่อ 30,000-35,000 ล้านบาท ขยับราคาจากราคาบ้าน 1 ล้านบาทต่อหน่วยเพิ่มเติม 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย เป็นแรงจูงใจภาคอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น ปรับดอกเบี้ยร้อยละ 3 ในช่วง 3-5 ปี เปิดให้ผ่อนชำระรายเดือน 4,000 บาทแบบคงที่ เพื่อดึงแรงซื้อเข้ามาเพิ่มเติม ธอส. ยังมุ่งเน้นกลุ่มรายย่อย ส่วนบ้านราคา 3-10 ล้านบาทเป็นกลุ่มเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังเตรียมออกมาตรการใหม่ New Home วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือรายย่อยอยากมีบ้าน คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี ร้อยละ 3.97 สำหรับบ้านราคา 2.5 ล้านบาท
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เพื่อช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องเชิญชวนผู้มีเงินออมและมีรายได้นำเงินออกมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะหากฝากเงินในสถาบันการเงิน ให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 หากนำเงินออกมาซื้อในโครงการที่มีศักยภาพตามทำเลที่มีแนวโน้มเติบโต จะช่วยให้เกิดพลังในการฟื้นเศรษฐกิจจากภาคอสังหาริมทรัพย์จากนี้ไปจะเริ่มต้นในการฟื้นฟู นับว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องการภาครัฐและทุกส่วนช่วยกันสร้างแรงซื้อใหม่