xs
xsm
sm
md
lg

บัตรเซ็นทรัลเดอะวันเผยกลยุทธ์ปี 64 รุกดิจิทัล ตั้งเป้าใช้จ่ายโต 9%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน เผยธุรกิจบัตรเครดิตไตรมาสแรกยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่แนวโน้มเริ่มดีขึ้น พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสู่ดิจิทัล รองรับผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านช่องทางแบบออมนิแชนเนล นิยมการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัส วาดแผนรุกกลุ่มกลุ่มพรีเมียมยังมีโอกาสเติบโต ชี้ผู้ให้บริการบัตรต้องพร้อมปรับกลยุทธ์ทั้งผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด รับความเปลี่ยนแปลง พร้อมเตรียมจับมือพันธมิตรเสริมประสบการณ์ดิจิทัล ทำการตลาดและการขายแบบนิว นอร์มอล ตั้งเป้ายอดใช้จ่าย 77,500 ล้านบาท เติบโต 9% ในสิ้นปี 2564

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเนรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตโดยรวมในปีนี้ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกซึ่งคาดการณ์ว่า ยอดบัตรใหม่จะติดลบที่ 20-30% ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรติดลบ 5-15% แต่ปลายเดือนมีนาคมเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น จึงคาดการณ์ทั้งปียอดบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 5-10% มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น 5-20% ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ หรือการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละแห่ง 

"ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่ท้าทายและหนักหนาในทุกมิติของแทบจะทุกธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจบัตรเครดิตด้วย โดยในปี 2563 ภาพรวมอุตสาหกรรมบัตรเครดิตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามียอดบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 2% ซึ่งน้อยมากที่เราจะเห็นยอดเติบโตของบัตรใหม่น้อยขนาดนี้ ยอดใช้หนี้คงค้าง -2% และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร -19% ขณะที่ปีนี้แม้สัญญาณจะเริ่มเป็นบวกในช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่สถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีโดยรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง"

สำหรับบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวันนั้น ในปี 2564 ได้ตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายเติบโต 77,500 ล้านบาท หรือเติบโต 9% มียอดบัตรใหม่ 82,000 ใบ หรือเติบโต 5% ซึ่งจะทำให้มีฐานบัตรรวมในปีนี้ที่ 950,000 ใบ จากปีก่อนที่ 900,000 ใบ ยอดสินเชื่อคงค้าง 21,500 ล้านบาท และยอดสินเชื่อบุคคลใหม่ 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายดังกล่าวยังคงอยู่ใช้หลักการเติบโตอย่างระมัดระวัง เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยบริษัทมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ที่จะเน้นด้านออนไลน์มากขึ้นทั้งทางด้านช่องทางการเพิ่มบัตรใหม่ที่จะทำได้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงช่องทางการชำระเงินซึ่งจะต้องเพิ่มบัตร Contact Less มากขึ้น จาก ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมียอดบัตรไร้สัมผัส (Contact Less) อยู่ 220,000 ใบ คาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 400,000-500,000 ใบ ซึ่งจะเท่ากับ 80-90% ของบัตรที่แอ็กทีฟ จากสิ้นปีก่อนที่มีจำนวน 190,000 ใบ และการทำดิจิทัล เลนดิ้ง

นอกจากนี้ จะมีการร่วมมือกับพันธมิตรในเชิงลึกยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของรานค้าขนาดย่อย และกลุ่มธุรกิจที่นอกเหนือจากค้าปลีก ซึ่งจะทำให้ฐานลูกค้าของบัตรกว้างขึ้น เนื่องจากพันธมิตรของบริษัทไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มบริษัทแม่หรือธนาคารกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีคอนซูมเมอร์ เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่บริษัทจะสามารถเชื่อมโยงกลุ่มลูกค้าได้ลึกและกว้างขึ้นกว่าเดิมมาก

และท้ายสุดตั้งเป้ายหมายเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าพรีเมียมเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของบัตรรวม จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7% ของฐานบัตรรวม แต่มียอดใช้จ่ายคิดเป็น 30% ของยอดใช้จ่าย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ช่วยพยุงยอดใช้จ่ายให้หดตัวน้อยลงในปีก่อนดังจะเห็นได้จากการลดลงของยอดใช้จ่ายของกลุ่มบัตรแมสที่ -4.4% ขณะที่กลุ่มพรีเมียม -2.8% ซึ่งการจะได้มาซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะต้องมีสิทธิประโยชน์ที่ดี โดยเราจะใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ดีนำมาวิเคราะห์ถึงความต้องการและสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์ที่ตรงใจได้มากขึ้น

"ในปี 2564 คาดว่าความท้าทายต่างๆ จะดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่สงบ สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ยอดขายค้าปลีกที่ยังไม่เติบโต โดยคาดว่าการเติบโตจะเกิดในบางหมวดร้านค้าและช่องทางออนไลน์เป็นหลัก นอกจากนี้ โควิด-19 ยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคไปสู่โลกดิจิทัล ทั้งการใช้ชีวิตและการจับจ่าย เทรนด์ที่เห็นได้ชัดคือ การชำระเงินแบบไร้สัมผัส และเทคโนโลยีการชำระเงินใหม่ๆ เป็นที่นิยมขึ้น การซื้อขายย้ายไปช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผู้บริโภคหันมาซื้อแบบออมนิแชนเนล ทั้งออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น เห็นได้จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในหมวดร้านค้าออนไลน์ บริการส่งอาหารเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนหมวดการใช้จ่ายที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน เช่น ไฮเปอร์มาร์เกต ซูเปอร์มาร์เกต และประกันภัยยังคงเติบโต ขณะที่หมวดการเดินทางท่องเที่ยว การใช้จ่ายในต่างประเทศ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และการกดเงินสดลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้น ยังเห็นแนวโน้มที่ลูกค้ากลุ่มแมส เริ่มชะลอการใช้จ่ายลง ขณะที่ลูกค้ากลุ่มพรีเมียม ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการบริหารพอร์ต บริหารผลิตภัณฑ์ การขาย และการตลาดแบบใหม่ เพื่อให้ก้าวทันสถานการณ์และตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าธุรกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ในปีนี้ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนที่ค้างมาจากปีก่อนหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มีโครงการพักชำระหนี้-เงินต้น และยังคงผ่อนผันให้ในรายที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งทางบริษัทมีแนวทางต่างๆ เพื่อรองรับทั้งการรีไฟแนนซ์หนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงานของบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน ในปี 2563 นับว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยแม้ธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ แต่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี แต่ก็ยังรักษาอัตราเติบโตได้ดี โดยยอดใช้จ่ายในเดือนธันวาคม 2563 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผลการดำเนินงานนับว่าดีกว่าตลาด แม้จำนวนบัตรใหม่ (76,500 ใบ) จะลดลงถึง -44% เทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก (70,000 ล้านบาท ลดลง -4% เทียบกับปี 2562) ยอดสินเชื่อคงค้าง 22,000 ล้านบาท (+3%) อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยหมวดการใช้จ่ายของบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน ที่เติบโตสูง สอดคล้องกับภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิต ได้แก่ บริการส่งอาหาร (+250% เทียบกับปี 2562) ร้านค้าออนไลน์ (+66%) ไฮเปอร์มาร์เกตและซูเปอร์มาร์เกต (+26%) และประกันภัย (+15%) ส่วนหมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวันที่เติบโตสูง แยกตามหน่วยธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ Central App (+255%) JD.com (+101%) ไทวัสดุ (+23%) และท็อปส์ (+12%)

"จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจบัตรเครดิตร่วมมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรเครดิตร่วมขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อได้เปรียบเชิงธุรกิจ ทั้งในแง่ของศักยภาพของพันธมิตรร่วม สิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย สัดส่วนของลูกค้าพรีเมียม และข้อมูลที่มากกว่า ทำให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้ตรงใจยิ่งขึ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น