ก.ล.ต. ออกประกาศลดอัตราค่าธรรมเนียมรายปีที่ต้องชำระในปี 2564 ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ทุกประเภท และขยายเวลาการชำระออกไปถึงสิ้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่ม 25 มี.ค.นี้
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการลดภาระให้แก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ก.ล.ต. จึงออกประกาศมาตรการผ่อนปรนเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (ค่าธรรมเนียมรายปี) ในปี 2564 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปี 2563 ดังนี้
(1) ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี สำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 500 ล้านบาท และบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ประเภทอื่นนอกจากหุ้น เช่น หุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
(2) ลดค่าธรรมเนียมรายปี สำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางขึ้นไปที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 500 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระ และขยายระยะเวลาจากที่ต้องชำระภายในเดือน พ.ค.2564 เป็นภายในเดือน ธ.ค.2564
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมตลาดทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Capital Market)
ก.ล.ต. จึงออกประกาศมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีผู้ทวนสอบก๊าซเรือนกระจกของบริษัท* โดยบริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปีและแบบ filing ที่ต้องชำระแก่ ก.ล.ต. ตั้งแต่ปี 2564-2566 (สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2563-2565) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี เพื่อลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่จะได้รับการผ่อนปรนค่าธรรมเนียมรายปีในปี 2564 และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ทวนสอบก๊าซเรือนกระจก จะต้องเป็นบริษัทที่ไม่เคยถูกเปรียบเทียบความผิดหรือถูกกล่าวโทษอันเนื่องจากไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน และได้ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในกำหนดเวลา โดยประกาศค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2564
*ต้องเป็นผู้ทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือผู้ทวนสอบที่บริษัทเห็นว่ามีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล