xs
xsm
sm
md
lg

อินเวสทรีเตรียมเคาะหุ้นกู้ SME ผ่านระบบ Crowdfunding สัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อินเวสทรี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการเงินทุนด้วยแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงสำหรับธุรกิจรายย่อย-เอสเอ็มอี เดินหน้ารุกตลาดทุนและสินเชื่อเพื่อธุรกิจเต็มตัว เตรียมออกหุ้นกู้ตัวแรก หลังได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.วงเงิน 5 แสนบาท อายุ 1 เดือน ให้เอสเอ็มอีกลุ่มโลจิสติกส์ หวังเป็นอีก 1 ทางเลือกให้เอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง

น.ส.ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด
เปิดเผยว่า อินเวสทรี เป็นสตาร์ทอัปทำแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงที่จะเป็นตัวกลางในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเปิดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับเอสเอ็มอีบางกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบนการเงินได้ยาก โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกเอสเอ็มอีที่จะมาขอออกหุ้นกู้ เช่น ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี มีคู่ค้าที่ดีหรือมีใบแจ้งหนี้ (Invoice) มีธุรกรรมซื้อขายบนระบบออนไลน์ และมีโอกาสไปต่อถ้าได้รับเงินทุน กำหนดหุ้นกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อรายในปีแรก จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไม่เกิน 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 14-15% โดยมีอยู่ในแผนออกหุ้นกู้เอสเอ็มอี 20 ราย เริ่มจากสัปดาห์หน้าหุ้นกู้ของเอสเอ็มอีธุรกิจโลจิสติกส์มูลค่า 500,000 บาท อายุ 1 เดือน อัตราดอกเบี้ย 15%

ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง โดยมีวงเงินขั้นต่ำในการลงทุนเพียง 1,000 บาทต่อราย ทำให้กระจายการลงทุนไปให้แก่นักลงทุนรายย่อย โดย ก.ล.ต. ได้จำกัดให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อหุ้นกู้ และลงทุนบนระบบคราวด์ฟันดิงทั้งหมดไม่เกิน 1 ล้านบาท จากปัจจุบันมี 4 แพลตฟอร์ม ขณะที่นักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง นิติบุคคลหรือมีบุคคลที่ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนสามารถลงทุนได้ไม่จำกัดวงเงิน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ทดลองลงทุนด้วยเงินของบริษัทเองก่อน เพื่อทดสอบระบบ โมเดลให้คะแนนความน่าเชื่อถือด้านการชำระหนี้ (Credit Scoring Model) และเกณฑ์การคัดเลือก SMEs ที่จะขอกู้ ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ เราได้ผลตอบแทนเงินลงทุนเฉลี่ย 14% ต่อปี และยังไม่มีลูกหนี้รายใดเป็นหนี้เสีย โดยเราตั้งเป้าบริหารอัตราหนี้เสียให้อยู่ไม่เกิน 3% ขณะที่ยอดปฏิเสธการขอระดมทุนอยู่ที่ 50% แต่คาดว่าในอนาคตก็อาจจะต่ำกว่านี้เมื่อสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ด้านการบริหารจัดการหนี้นั้น บริษัทในฐานะผู้จัดการการระดมเงินได้ขอต่อ ก.ล.ต.ในการติดตามการชำระหนี้ของผู้ออกเงินกู้ระยะหนึ่ง และหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้สามารถเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้ทันที ขณะที่บริษัทเองก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นในแนวทางการดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมาย หรือแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มเจ้าหนี้

"เรามองที่กลุ่มเอสเอ็มอีมานานแล้ว รู้สึกว่ามีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากมาก ในปี 2562 มีสินเชื่อเอสเอ็มอีเพียง 1.2% ของจีดีพี ปี 2563 ยิ่งน้อยลงไปอีก 0.89% ของจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่าสถาบันการเงินต้องเข้มงวดมากขึ้นในภาวะอย่างนี้ ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้ภาคธุรกิจมีถึง 85% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนได้ลงทุนใน Real Sector จริงๆ เพราะมูลค่าธุรกิจกลุ่มเอสเอ็มอีมีถึง 37% ของจีดีพี มีอัตราการจ้างงานอยู่ที่ 80% ในอัตราดอกเบี้ยที่ 6-26% สูงกว่าการซื้อหุ้นกู้ทั่วไป แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้ลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่สูงกว่าด้วยเช่นกัน"

ส่วนเป้าหมายทางด้านธุรกิจนั้นจะประเมินเทียบกับบริษัทพาร์ตเนอร์ที่อินโดนีเซียที่เปิดมาได้ 5 ปี มีนักลงทุน 32,000 คน มีผู้กู้ 2,000 ราย มียอดระดมทุน 520 ล้านเหรียญสหรัฐ ขนาดเศรษฐกิจอินโดนีเซียใหญ่กว่าไทย 3 เท่า หวังจะได้ 1 ใน 3 ของพาร์ตเนอร์ที่อินโดนีเซีย ขณะที่ตัวบริษัทเองจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากผู้ออกหุ้นกู้ในอัตรา 3-5% จากวงเงินการออกหุ้นกู้ โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 24.3 ล้านบาท มีอินเวสทรี อินโดนีเซียเป็นพาร์ตเนอร์ถือหุ้นในอัตรา 49% และยังมีแผนที่จะเพิ่มทุนอีกในระยะต่อไป

ด้านนายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หุ้นกู้ของเราจัดเป็น unrated high yield bond อายุตั้งแต่ 1 เดือน-2 ปี ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ช่วงโควิด-19 เราจำกัดให้อายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความเสี่ยงให้นักลงทุน หุ้นกู้นี้ออกโดย SMEs ที่เราได้คัดเลือกมาให้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ SMEs และยังมีระบบจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขอออกหุ้นกู้ (Credit Worthiness Rating) ซึ่งคำนวณจากหลายปัจจัยที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ เพื่อช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนสูงสุดอาจถึง 26% ต่อปี เมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ผลตอบแทนไม่สูงนักแต่ความผันผวนเฉลี่ยสูงถึง 30% แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงนักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน และต้องกระจายการลงทุนด้วย

"เราไม่สามารถการันตีได้ว่าหุ้นกู้ของบริษัทนี้จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ แต่สิ่งที่เราทำก็คือพยายามที่จะคัดสรรเอสเอ็มอีที่ดี มีศักยภาพการดำเนินงานในอนาคตมาออกหุ้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงยังคงมี เพราะฉะนั้นการกระจายลงทุนไปไหนหลายบริษัทจึงเป็นการกระจายความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง"
กำลังโหลดความคิดเห็น