นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า ในปี 64 บริษัทตั้งเป้ารายได้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อนที่มีรายได้ 1.14 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งงบลงทุนราว 2.0-2.8 พันล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าบริษัทจะชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะของเทศบาลจังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์หรือไม่ และอาจจะต้องซื้อที่ดินด้วย โดยระหว่างนี้เป็นช่วงรอการประกาศผลการประมูล
สำหรับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่จะนะ จ.สงขลา นายภัคพล กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังจากมีผู้คัดค้านโครงการ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ศึกษาโครงการร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
และในวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม มีมติว่าไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) แต่จะต้องศึกษาความเป็นไปได้โครงการอีกครั้ง จากนั้นค่อยเดินหน้าจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ต่อไป
ดังนั้น สรุปแล้วคือโครงการจะเดินหน้าต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมาสะดุดบ้าง โดยชะลอออกไป 3-6 เดือน แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการ เพราะปัจจุบันก้าวหน้ามากกว่า 50% แล้ว
นายภัคพล กล่าวว่า บริษัทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไร แต่ก็ขึ้นกับกระแสเงินสดและความต้องการเงินทุน แต่ในปี 64 บริษัทมีความต้องการเงินลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะของเทศบาลจังหวัดนครราชสีมา จึงอาจจะจ่ายเงินปันผลได้น้อยลง
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส TPIPP กล่าวว่า ในส่วนที่ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) หรือโรงไฟฟ้า SPP ในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 100 กว่าล้านหน่วย จะทำให้มีรายได้เพิ่มเป็น 8,710 ล้านบาท จากปีก่อนมี 8,325 ล้านบาท ส่วนที่ขายให้ TPIPL เพิ่มขึ้นเป็น 3,090 ล้านบาท จาก 2,266 ล้านบาทในปีก่อนตามการเติบโตยอดขายปูนซีเมนต์ รวมเป็น 11,800 ล้านบาทจากปีก่อน 10,590 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะไม่มีการปรับลดค่า ft จากต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทได้ขยายโรงงานคัดแยกขยะเพื่อผลิต RDF เป็น 11 แห่ง จาก 6 แห่ง โดย 5 แห่งที่เพิ่มเข้ามาได้แก่ ชลบุรี (บ่อวิน) จันทบุรี ปทุมธานี อยุธายา และลพบุรี และ ทำให้มีกำลังการผลิต 1,000 ตัน/วัน โดยใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน โรงงานปูนซีเมนต์ของ TPIPL ก็มีความต้องการใช้ RDF เช่นกัน คาดว่าในปีนี้จะสร้างรายได้เพิ่มมาอีก 350-450 ล้านบาท
แผนอนาคตการผลิตไฟฟ้าภายในปี 68 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 582 เมกะวัตต์ จากปี 64 ที่มี 440 เมกะวัตต์ และจะทยอยเพิ่มเป็น 474 เมกะวัตต์ในปี 66 มาจากการเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า SPP เป็น 284 เมกะวัตต์ จาก 163 เมกะวัตต์ในปีนี้ โรงไฟฟ้าขยะจะนะ โรงไฟฟ้าขยะนครราชสีมา และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอื่นๆ ที่รอเตรียมเข้าประมูล
ปัจจุบัน บริษัทดำเนินการผลิตไฟฟ้า 440 เมกะวัตต์ โดยขายให้แก่ บมจ.ทีพีไอโพลีน (TPIPL) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จำนวน 260 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) จำนวน 180 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ดาม โรงไฟฟ้า TG3 และ TG5 จะสิ้นสุดได้รับค่า Adder ในปี 65