ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพโดยรวมทั้งในเดือน ก.พ.2564 และอีก 3 เดือนข้างหน้าฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 39.5 และ 41.3 จาก 37.2 และ 38.8 ในเดือน ม.ค.64 ดัชนีฯ กลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าการระบาดในรอบแรก โดยเมื่อเทียบกับช่วงคลายล็อกดาวน์ในเดือนพ.ค.63 ดัชนีปรับขึ้น 2.9% จากเดือน เม.ย.63 แต่ในครั้งนี้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นถึง 6.3% จากในเดือน ม.ค.64 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดในระลอกใหม่นี้ไม่ได้มีการปิดเมือง และเน้นเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดหนัก อีกทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจได้เรียนรู้วิธีรับมือจากการระบาดในรอบก่อน นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาต่างๆ ของภาครัฐ ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และค่าใช้จ่ายลดลง โดยดัชนีในส่วนของรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.6 จาก 38.7 และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 33.2 จาก 31.0 ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่อเนื่อง โดยเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดต่างๆ จนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ระดับของดัชนียังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ว่าครัวเรือนมีภาวะการครองชีพดีขึ้น ซึ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวนั้น ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน โดยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาล้วนได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน รวมถึงโครงการลดค่าสาธารณูปโภค โดยมีผู้เข้าร่วมใช้สิทธิจำนวนมากส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศสอดคล้องไปกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ม.ค.64 ที่แม้ว่าปรับตัวลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดอยู่ที่ -4.9% แต่ระดับการลดลงน้อยกว่าในช่วงล็อกดาวน์ปีก่อนในช่วงเดือน เม.ย.63 ที่ลดลงถึง -15.1% บ่งชี้ว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยประคับประคองภาวะการครองชีพของครัวเรือน
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในกรณีที่มีวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในไทย โดยปัจจุบันได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกในไทยแล้ว โดยกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนจะยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งผลสำรวจระบุว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ต้องการเข้าร่วมฉีดวัคซีนถึง 77.2% บ่งชี้ว่าหากวัคซีนสามารถเข้ามาในไทยได้เร็วกว่าที่กำหนดจะยิ่งช่วยหนุนความเชื่อมั่นและส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมา อย่างไรก็ตาม ระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับมาจะยังไม่สามารถกลับมาเท่ากับในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่แม้การท่องเที่ยวในประเทศจะช่วยประคับประคองตลาดไว้ได้บางส่วน แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ที่จะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 2.0 ล้านคน ภายใต้เงื่อนไขการฉีดวัคซีนทั้งของประเทศไทยและของประเทศต้นทางที่จะเข้ามาเที่ยวในไทยและจำนวนวันในการกักตัว รวมถึงการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine passports for COVID-19)
ดังนั้น ในช่วงรอยต่อจนกว่าการกระจายวัคซีนจะมีจำนวนมากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หรือมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ธุรกิจท่องเที่ยวไทยในปีนี้จึงยังต้องพึ่งพาอุปสงค์จากในประเทศเป็นหลัก (ไทยเที่ยวไทย) โดยล่าสุด ภาครัฐเริ่มมีการพิจารณาขยายสิทธิห้องพักเพิ่มอีก 2 ล้านห้อง และระยะเวลาในการใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงมีการแปลงโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋าเป็นโครงการทัวร์เที่ยวไทยโดยขยายอายุในการเข้าร่วมใช้สิทธิ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองธุรกิจภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการจ้างงานไว้
โดยสรุปแล้วดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.พ.2564) และ 3 เดือนฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ในระยะข้างหน้าดัชนีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังมีความจำเป็นในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป