บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินผลกระทบโควิด-19 กดดัน คาด กนง. ลดดอกเบี้ยปีนี้สู่ระดับร้อยละ 0 สำหรับทิศทางหุ้นไทยในช่วงนี้ไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ ด้าน GC ยอมรับมาร์จิ้นหด แต่ปรับตัวลดต้นทุนแข่งขันได้พร้อมเดินหน้าลงทุนเพิ่มใน EEC
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งไปสู่ระดับร้อยละ 0 หลังจากวานนี้ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
“ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจเริ่มเห็นชัด แม้รัฐบาลจะมีมาตรการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ประชาชนหลายช่องทางก็ตาม โดยหากวัคซีนเข้ามาล่าช้าหรือยังไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดทั้งในไทยและทั่วโลกได้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจและ กนง. คงจะต้องลดดอกเบี้ยอีกเพื่อพยุงเศรษฐกิจ” นายกรภัทร กล่าว
สำหรับทิศทางหุ้นไทยในช่วงนี้ไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ ยังคงเป็นผลบวกที่คาดการณ์ ผลประกอบการไตรมาส 4/63 ของกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีที่น่าจะออกมาดี แต่หากมองมาถึงไตรมาส 1/64 กลุุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทั่วโลกรวมถึงไทยคุมเข้มและล็อกดาวน์
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงนั้น แต่บริษัทก็ยังเดินเครื่องการผลิตเต็มที่ แม้มาร์จิ้นจะอยู่ในระดับต่ำลงบ้าง แต่บริษัทมีความสามารถในการบริการจัดการต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำจึงสามารถแข่งขันได้ และสามารถผลิตได้เต็มที่
สำหรับการลงทุน 3 โครงการลงทุนในในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่ารวมประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 2 โครงการ คือ โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (PO) และโครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิต PO 2 แสนตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ 1.3 แสนตันต่อปี ส่วนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตเอทิลีน 5 แสนตันต่อปี และโพรพิลีน 2.5 แสนตันต่อปี จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ.นี้
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะขยายการลงทุนในอีอีซีเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในโครงการต่างๆ เบื้องต้น คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนในอีอีซี อีกประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งล่าสุดได้ขยายโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 มูลค่าประมาณ 165 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5,198 ล้านบาท ได้เริ่มออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้าง (Engineering, Procurement & Construction) แล้ว โครงการนี้จะทำให้บริษัทสามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เป้าหมายจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2566