สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ยังคงเป้าหมายจีดีพีปีนี้ที่ 3.1% หวังวัคซีนเดินหน้าตามแผน แนะรัฐเพิ่มขนาดมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น พร้อมเร่งเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่นำร่องลงภาคเอกชน ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายมองคงที่ระดับเดิมทั้งปี และเงินบาทยังแข็งค่าคาดสิ้นปีแตะ 29.00 ส่วนปีหน้าคาดจีดีพีโต 2.5% ความไม่แน่นอนสูง
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐกิจศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายเศรษฐกิจไทยปี 2563 เติบโตที่ 3.1% ซึ่งถือว่าเป็นในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของสำนักอื่นๆ ซึ่งมีทั้งสูงก่า 3% และต่ำกว่า 3% โดยปัจจัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่มีสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่นั้นไม่เลวร้าย แต่ยังต้องมีความระมัดระวัง ขณะที่แผนด้านวัคซีนของไทยมีความคืบหน้าที่ดี โดยจะมีการฉีดเข็มแรกในกลางเดือนกุมภาพันธ์ และคาดกว่าฉีดได้ 30 ล้านคน หรือ 50%ของประชากร และหากเอกชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องของวัคซีนก็อาจจะทำให้เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม ทำให้ตัวเลขที่ระด้บ 3.1% มีความเป็นได้
สำหรับในปี 2565 คาดการณ์จีดีพีที่ระดับ 2.5% โดยมองว่ายังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนและต้องติดตามค่อนข้างมาก โดยจากที่เห็นใน 3 จุดหลักๆ คือ การบริโภค การลงทุน และการนำเข้าที่ยังไม่กลับมา นอากจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคลังที่อาจจะมีข้อจำกัดมากขึ้นในปีหน้า จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงขึ้นใกล้เพดานที่ 60% โดยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 57% รวมถึงปัจจัยทางการเมืองที่หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะกลับมาหรือไม่ และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐจะเริ่มดำเนินการได้หรือไม่ หากสถานการณ์ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ธนาคารก็พร้อมที่ปรับเพิ่ม
"ขนาดของมาตรการคลังที่รัฐออกมาในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้ทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และได้ร้บการตอบรับที่ดี แต่เรายังอยากเห็นขนาดของมาตรการที่สูงกว่านี้ จากปีก่อนที่มีเม็ดเงินกระตุ้นประมาณ 400,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงกว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า แต่เม็ดเงินที่ออกมา 200,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการถูกซ้ำเติมจากการระบาดครั้งก่อนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงน่าจะมีไซส์ที่ใหญ่กว่านี้ รวมถึงต้องติดตามโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น EEC หรืออื่นๆ ซี่งหากมีจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาก็จะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอีก"
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะมีการประชุมเป็นครั้งแรกของปีนี้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% เท่าเดิมและคงในอัตรานี้ไปจนสิ้นปี โดยยังคงให้บทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปที่กระทรวงการคลังมากกว่า เนื่องในปีที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 3 ครั้ง ทำให้ช่องในการดำเนินนโยบายการเงินเหลือน้อยลง และจะต้องคำนึงถึงประสิทธิของนโยบายการเงินที่ใช้ออกไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ความโน้มเอียงในด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่ใกล้เต็มเพดานทำให้มีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ และทางกระทรวงการคลังเองก็ไม่มีแนวทางเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะหากไม่จำเป็น เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและอาจถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เสริม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ร้ายแรงคุมไม่ได้จนต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศอีกรอบ เงินบาทที่แข็งค่าจนกระทบส่งออกมาก และปัญหาการเมืองพัฒนาไปจนกระทบให้รัฐบาลไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าวก็จะกระทบจีดีพีไปด้วย โดยอาจจะเติบโตที่ 0% หรือติดลบ
ด้านเงินบาทมองว่ายังมีทิศทางแข็งค่า คาดว่ากลางปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปลายปีแตะที่ระดบ 29.00 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และ ธปท.เองมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่องแต่เงินบาทยังแข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2558 ที่เงินบาทอยู่ในระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาจนกระทั่งปี 2563 อยู่ที่ 30 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ
"เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานในประเทศมาตลอด เมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจเราติดลบแต่เงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้น ในปีนี้ก็ยังมีทิศทางแข็งค่า แต่หากทางสหรัฐฯ มีประธานาธิบดีใหม่เข้ามา และหากนโยบายต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่งขึ้น ก็อาจจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง"