xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) ตลท.กางแผนงาน 3 ปี บูรณาการนวัตกรรมสู่การลงทุนในยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2564-2566) ภายใต้แนวคิด "Redefine Thai Capital Market Resiliency…ก้าวต่อไปตลาดทุนไทย สู่ความแข็งแกร่งของประเทศ" บูรณาการด้านนวัตกรรม สร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน ภายใต้กรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับตัวสู่วิถีธุรกิจใหม่ (Next Normal) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน และเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของประเทศ ตอบสนองความท้าทายในโลกปัจจุบันที่อยู่บนวิถี VUCA (ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity)) ดังนั้น กรอบการพัฒนาในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของประเทศอย่างมีสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม (Balanced Growth) รองรับสภาพแวดล้อมของตลาดทุน เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To make the capital market “Work” for everyone”

กรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์หลัก

1.สร้างการเติบโตในตลาดทุน (Market Growth)

1.1) การเพิ่มหลักทรัพย์ใหม่ (Boost supply-side opportunities) ส่งเสริมการระดมทุนของธุรกิจใหม่ เช่น เศรษฐกิจกระแสใหม่ (New economy) หลักทรัพย์ต่างประเทศ บริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงสตาร์ทอัป (Startups) ในรูปแบบที่เหมาะสมตามความเสี่ยงและประเภทของผู้ร่วมลงทุน ขณะเดียวกัน สนับสนุนการนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ

1.2) การขยายฐานผู้ลงทุน (Rapid investor expansion) มุ่งเน้นการขยายช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ลงทุนได้กว้างขึ้นและทำให้การลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ ควบคู่กับการตลาดดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลความรู้ บริการ และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ ให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ขณะที่จะขยายความน่าสนใจของตลาดทุนไทยไปยังกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอธีมผลิตภัณฑ์และบริการ (Thematic products and services) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนสถาบัน

2.ขยายโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Expansion)

2.1) การสร้างการมีส่วนร่วม (Building engagement) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบการในตลาดทุน ส่งเสริมรายงานด้าน ESG รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

2.2) การต่อยอดธุรกิจใหม่ (Venturing new frontiers) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนไทย เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงตลาดทุนโลก และให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของผู้ลงทุน

3.ขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental Solutions & Social Development)

3.1) การปลูกฝังการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG cultivation) ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักการ ESG มาบูรณาการในกระบวนการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบธุรกิจ เพื่อคงความเป็นผู้นำในภูมิภาคในด้าน ESG พร้อมส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ยังสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ผ่านโครงการ Care the Bear Care the Whale และ Care the Wild โดยทำงานร่วมกับองค์กรในตลาดทุนและพันธมิตร

3.2) การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social empowerment) มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านความรู้ทางการเงินของประเทศ โดยพัฒนาทักษะพื้นฐานการบริหารจัดการทางการเงินในชีวิตประจำวันให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับงานวิจัยด้านตลาดทุน พัฒนาศักยภาพและขยายโอกาสสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมผ่าน Social digital platform

4.เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและศักยภาพบุคลากร (Continuous Improvement & Talent Empowerment)

4.1) ความสามารถในการขยายตัวด้านธุรกิจ (Business scalability) ยกระดับระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยยึดหลักมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรในการสร้างสรรค์บริการอย่างครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและผู้ลงทุน

4.2) ความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational excellence) ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน โดยศึกษาการนำ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้ ให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงและการสื่อสารในช่วงวิกฤต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของพนักงาน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานในวิถีชีวิตปกติใหม่

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น