ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2564-2566) ภายใต้แนวคิด "Redefine Thai Capital Market Resiliency…ก้าวต่อไปตลาดทุนไทย สู่ความแข็งแกร่งของประเทศ” เดินหน้าบูรณาการด้านนวัตกรรม สร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้กับผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน ภายใต้กรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์ เน้นสร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่เป็นรูปธรรมสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการเติบโตอย่างมีสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม (Balanced Growth)
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับตัวสู่วิถีธุรกิจใหม่ (Next Normal) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน และเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของประเทศ ตอบสนองความท้าทายในโลกปัจจุบันที่อยู่บนวิถี VUCA (ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity)) ดังนั้น กรอบการพัฒนาในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของประเทศอย่างมีสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม (Balanced Growth) รองรับสภาพแวดล้อมของตลาดทุน เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To make the capital market “Work” for everyone”
กรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์หลัก
1. สร้างการเติบโตในตลาดทุน (Market Growth)
1.1) การเพิ่มหลักทรัพย์ใหม่ (Boost supply-side opportunities) ส่งเสริมการระดมทุนของธุรกิจใหม่ อาทิ เศรษฐกิจกระแสใหม่ (New economy) หลักทรัพย์ต่างประเทศ บริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงสตาร์ทอัพ (Startups) ในรูปแบบที่เหมาะสมตามความเสี่ยงและประเภทของผู้ร่วมลงทุน ขณะเดียวกัน สนับสนุนการนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ
1.2) การขยายฐานผู้ลงทุน (Rapid investor expansion) มุ่งเน้นการขยายช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ลงทุนได้กว้างขึ้นและทำให้การลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ ควบคู่กับการตลาดดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลความรู้ บริการ และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ ให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ขณะที่จะขยายความน่าสนใจของตลาดทุนไทยไปยังกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอธีมผลิตภัณฑ์และบริการ (Thematic products and services) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนสถาบัน
2. ขยายโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Expansion)
2.1) การสร้างการมีส่วนร่วม (Building engagement) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบการในตลาดทุน ส่งเสริมรายงานด้าน ESG รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
2.2) การต่อยอดธุรกิจใหม่ (Venturing new frontiers) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนไทย เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงตลาดทุนโลก และให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของผู้ลงทุน
3. ขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental Solutions & Social Development)
3.1) การปลูกฝังการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG cultivation) ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักการ ESG มาบูรณาการในกระบวนการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบธุรกิจ เพื่อคงความเป็นผู้นำในภูมิภาคในด้าน ESG พร้อมส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ยังสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ผ่านโครงการ Care the Bear Care the Whale และ Care the Wild โดยทำงานร่วมกับองค์กรในตลาดทุนและพันธมิตร
3.2) การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social empowerment) มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านความรู้ทางการเงินของประเทศ โดยพัฒนาทักษะพื้นฐานการบริหารจัดการทางการเงินในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับงานวิจัยด้านตลาดทุน พัฒนาศักยภาพและขยายโอกาสสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมผ่าน Social digital platform
4. เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและศักยภาพบุคลากร (Continuous Improvement & Talent Empowerment)
4.1) ความสามารถในการขยายตัวด้านธุรกิจ (Business scalability) ยกระดับระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยยึดหลักมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรในการสร้างสรรค์บริการอย่างครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและผู้ลงทุน
4.2) ความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational excellence) ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน โดยศึกษาการนำ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้ ให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงและการสื่อสารในช่วงวิกฤต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของพนักงาน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานในวิถีชีวิตปกติใหม่
ตลาดหลักทรัพย์ฯ สรุปพัฒนาการสำคัญและความสำเร็จปี 2563 โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ดังนี้
ด้านธุรกิจ
• มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ IPO 5.55 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 2 ในเอเชีย และสูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน (อันดับ 2 ในเอเชีย และสูงสุดในอาเซียน ไม่นับรวม cross-border products) โดย บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าระดมทุนใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมีมูลค่าเสนอขายในกลุ่มค้าปลีกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
• สภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2563 มีวันที่มูลค่าซื้อขายเกิน 1 แสนล้านบาท ถึง 22 วัน และวันที่ซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และโดยเฉลี่ยมีมูลค่าซื้อขายต่อวัน 67,334.80 ล้านบาท
• TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 4.94 แสนสัญญา เป็นอันดับที่ 26 ของโลก (ข้อมูล ณ พ.ย. 2563)
• จำนวนบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 662,678 บัญชี จากสิ้นปี 2562 สรุปตัวเลขบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์รวม 3.43 ล้านบัญชี (ณ พ.ย. 2563)
• ปรับกฎเกณฑ์เพื่อรองรับความผันผวนของตลาด เช่น มาตรการ Market Disruption และปรับปรุงเกณฑ์ Circuit Breaker
• ยกระดับการให้บริการสู่ Fully Digitalized Services ผ่านการให้บริการ e-Proxy, e-Meeting และ e-Conference
• เชื่อมโยงสินค้าและบริการในตลาดโลก เช่น S&P500 DW, Hang Seng China Enterprises Index (HSCEI) DW, Silver Online Futures และ Japanese Rubber Futures
• ร่วมมือกับ Tech companies พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เช่น M-DAQ: ข้อมูลราคาหุ้น SET50 เทียบราคา 10 สกุลเงินต่างประเทศแบบเรียลไทม์ และแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจรภายใต้ความร่วมมือกับ KBTG
• เพิ่มโอกาสการลงทุนผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่น Point to Invest โดยร่วมกับ 16 บริการทางการเงินเปลี่ยนคะแนนสะสมบัตรเครดิตเป็นกองทุนรวม และ Start Invest โดยร่วมกับ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ ให้บริการเปิดบัญชี-ซื้อขายกองทุนรวมผ่าน True Money Wallet บนฐานลูกค้ากว่า 15 ล้านราย
• ปรับการทำงานสู่ New way of working ด้วยการ Work From Home ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของ COVID-19 รวมทั้งใช้การสื่อสารภายในกับพนักงาน
ด้านคุณภาพ
• 21 บจ. อยู่ในดัชนีความยั่งยืน DJSI มากที่สุดในอาเซียน โดย 7 บจ. ไทยได้คะแนนสูงสุดเป็นที่ 1 ของโลกใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม
• ยกระดับ LiVE Platform เป็นศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพ SMEs และ Startups สู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในทุกมิติ
• พร้อมรองรับ PDPA และสร้างมาตรฐาน Cybersecurity ของอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและ ISO27701
• เดินหน้าลดโลกร้อน ร่วมกับพันธมิตรดำเนินโครงการ Care the Wild แพลตฟอร์มความร่วมมือปลูกไม้ให้ได้ป่า ด้วยกลไกธรรมาภิบาลเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล เป็นโครงการที่ต่อเนื่องจาก Care the Bear และ Care the Whale