xs
xsm
sm
md
lg

KBANK จุดกระแสลงทุนในโกลบอลเฮลท์แคร์ ชู K-GHEALTH รับ New Normal

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง จุดกระแสลงทุนในโกลบอลเฮลท์แคร์ ผ่านกองทุน K-GHEALTH ที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นธีมการลงทุนระยะยาวจากนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวกระโดด ทางด้านการรักษาอย่างตรงจุด หรือการแพทย์แม่นยำ การวิเคราะห์ต้นเหตุสาเหตุของโรคจากพันธุกรรมในแต่ละบุคคล การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ตอบโจทย์ New Normal รวมถึงเทรนด์การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ดูแลสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ ในงานสัมมนาหัวข้อ "Health is Wealth"

น.ส.ศิริพร สุวรรณการ Managing Director - Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 
เปิดเผยว่า ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ในปี 2568 การตั้งเป้านี้ หมายถึงประเทศไทยมีศักยภาพในด้านองค์ความรู้ บุคลากรและเทคโนโลยีที่พร้อมที่จะพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญคือการแพทย์แม่นยำ หรือ Precision Medicine ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะมาเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นความหวังที่คนทั่วโลกสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ และที่สำคัญนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นโอกาสดีให้แก่การลงทุนในหมวดหมู่ของโกลบอล เฮลท์แคร์

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในแวดวงบริษัทด้านการแพทย์ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งกลุ่มบริษัทที่มีงบประมาณด้านการวิจัยและการพัฒนา (Research and Development) มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญให้บริษัทด้านการแพทย์ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เกิดผลลัพธ์เป็นวัคซีนป้องกันอย่างเร็วที่สุด เช่นเดียวกัน จากเมื่อ 30 ปีก่อน ในปี 1991 มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งสนใจด้านการถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ เพราะคนยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญ และจำเป็น อีกทั้งต้องใช้เวลายาวนานถึง 13 ปีในการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ 1 คน ใช้งบประมาณสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาทไทย

อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ด้านการถอดรหัสพันธุกรรมนี้ก่อให้เกิด 2 สิ่งใหม่ คือ 1.ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยต่างๆ จากรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ 2.เทคโนโลยีที่ใช้ในการถอดรหัสพันธุกรรมทำได้รวดเร็วมากขึ้น และราคาถูกลงอย่างมหาศาล ปัญหาใหญ่ของคนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงคือใช้วิธีการรักษาแบบเดียวกันหมด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้ผลมาก หรือน้อยแตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบันมีองค์ประกอบที่จะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยทุกคน นั่นก็คือ การแพทย์แม่นยำที่นำองค์ความรู้ด้านการถอดรหัสพันธุกรรมมาใช้ในการรักษาโรค เพื่อที่จะได้รู้ว่าความผิดปกติเกิดขึ้นจากตรงไหน ควรใช้วิธีการรักษาอย่างไร เพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดีที่สุด เพราะการแพทย์แม่นยำ มองว่าสาเหตุความเจ็บป่วย ความผิดปกติของร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน รวมไปถึงสามารถนำมาใช้ตรวจหาความเสี่ยงเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค เป็นต้น

"และที่คนทั่วโลกกำลังต้องตารอและเป็นกังวลก็คือ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งในแรกในวงการการแพทย์ที่ดึงเอานวัตกรรม องค์ความรู้ทั้งหมดของโลกนี้นำมาทำงานร่วมกัน เห็นการพัฒนาที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ใช้เวลาเพียง 8 เดือนในการพัฒนาวัคซีน มีคนได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเรียบร้อยแล้ว มีวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด 140 ตัว และได้รับการอนุมัติแล้วจาก 2 บริษัท คือ Moderna และ Pfizer ซึ่งกำลังจะตามอีก 4-5 บริษัท โดยมีกำลังการผลิตในปี 2564 จาก 6 บริษัทนี้ สูงถึง 8 พันล้านโดส ครอบคลุมคนกว่า 50% ทั่วโลก สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ถ้ากระจายการเข้าถึงวัคซีนให้ดี และทำให้สามารถใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติ"

ด้านผู้จัดการกองทุน นาย นิโคลัส วิลค็อกซ์ จาก JP Morgan Asset Management กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องระดมสมองเพื่อให้การแพร่ระบาดจบลง ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาลงทุนด้านสาธารณสุข ความพยายามที่จะป้องกันการแพร่ระบาด การคิดค้นวัคซีน การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตจากนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ด้านการแพทย์ที่มีการนำโทรเวชกรรม (Telemedicine) หรือการนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time ทางไกลเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (Mega trend) และรูปแบบธุรกิจครั้งใหญ่ (Disruption) ที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายบริการทางการแพทย์ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ถือเป็นแรงหนุนที่สำคัญในระยะยาวต่อไป และถึงแม้ว่าแนวโน้มของการดูแลรักษาสุขภาพจะได้รับความนิยมมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ปฏิเสธได้ยากว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ ถ้ามองลึกลงไปในหมวดหมู่ของการดูแลรักษาสุขภาพ เรามองว่ามีอีกหลายหมวดหมู่ย่อยที่มีความแข็งแกร่งและราคายังไม่สูงมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยาที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ บริษัทไบโอเทคโนโลยีที่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการควบรวมหรือการเข้าซื้อกิจการ สุดท้ายนี้ มองว่าเฮลท์แคร์ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอัตราที่ดี และยังคงมีนวัตกรรมที่จะปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ยังคงน่าสนใจและเป็นโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวต่อไปได้

ขณะที่กองทุน K-GHEALTH เน้นลงทุนในหุ้นทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.Pharma - ยา ที่สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด เช่น บริษัท Roche ผู้ผลิตเครื่องตรวจวัดโรคจากเลือด โดยในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เครื่อง Cobus Pure สามารถตรวจได้ 1,440 ตัวอย่างภายใน 24 ชั่วโมง และผลตรวจ 1 เคสว่าติดหรือไม่ ใช้เวลา 3.5 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถตรวจได้เร็วขึ้น ใช้เวลาเพียง 15-30 นาทีเท่านั้น ช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง อย่าง Accu Check ปัจจุบันก็มีการพัฒนาให้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยประมวลผลและดูแนวโน้มของระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยประเมินได้ว่าควรจะดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร เพื่อให้มีระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม เป็นต้น บริษัท Novo Nordisk ที่มีความเชี่ยวชาญโรคเบาหวานโดยเฉพาะ กว่า 50% ของอินซูลินที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มาจากบริษัทนี้ทั้งสิ้น ปัจจุบันพัฒนาให้อินซูลินอยู่ในรูปแบบเม็ดสะดวกกับผู้ป่วยมากขึ้น เป็นต้น

2.Biotech - การรักษาที่รักษาไปจนถึงระดับพันธุกรรม เช่น บริษัท AMGEN ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งและโรคหัวใจ เช่น พัฒนายาที่ป้องกันการเกิดหัวใจล้มเหลว ด้วยการเข้าไปสร้างกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และ บริษัท Alexion เน้นรักษาโรคเฉพาะทาง หรือโรคหายาก เช่น โรคฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ ซึ่งให้ผลดี

3.Medical Tech - เทคโนโลยีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่ถูกต้องตรงจุด เช่น บริษัท Twist Bioscience เป็นผู้ผลิต DNA สังเคราะห์ ร่วมกับ Microsoft ในการจัดเก็บ DNA ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

และ 4.Healthcare Services - การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขในราคาที่เหมาะสม เช่น ระบบประกันสุขภาพของบริษัท Centene และบริษัท United Health Group มีบริษัทในเครือข่ายมาก รวมถึงแพทย์ผู้รักษาจำนวนมากเป็นต้น

โดยกองทุน K-GHEALTH มีการจ่ายปันผลรวมแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง เป็นเงิน 1.90 บาทต่อหน่วย โดยในรอบผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี และมีผลการดำเนินงานย้อนหลังรวมเงินปันผลทั้งหมดตั้งแต่จัดตั้งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 45.5% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ธ.ค.63)

"การลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนดีที่สุดคือการลงทุนระยะยาว มีการทุ่มงบประมาณในการพัฒนาทางการแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดในด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในธุรกิจด้านการแพทย์ อย่าง JP Morgan สุดท้ายนี้ ธนาคารฯ เชื่อได้ว่าการลงทุนในโกลบอลเฮลท์แคร์เป็นโอกาสการลงทุนที่ดีในระยะยาวได้อย่างแน่นอน" น.ส.ศิริพร กล่าวปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น