บางกอกฟรีเทรดโซน ถนนบางนา-ตราด กม.23 (BFTZ) หลังมีผู้ประกอบการสนใจเช่าพื้นที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง รุกประมูลงานก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้า พื้นที่รวมประมาณ 100,000 ตารางเมตร คาดรู้ผลต้นปี 2564 เตรียมนำเข้าระดมทุนผ่านกองทรัสต์ PROSPECT
น.ส.รัชนี มหัตเดชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในเครือบริษัท มั่นคงเคหะการจำกัด (มหาชน) หรือ MK ผู้พัฒนาและบริหารโครงการเขตประกอบการทั่วไปและเขตปลอดอากร ‘บางกอกฟรีเทรดโซน’ บริเวณถนนบางนา-ตราด กม.23 และถนนเทพารักษ์ (ตั้งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางพลี) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายการพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าทั้งแบบสำเร็จรูป (Ready Built) และแบบ Built-to-Suit ที่ก่อสร้างตามความต้องการของลูกค้าภายในโครงการบางกอกฟรีเทรดโซนทั้ง 3 แห่ง คือ BFTZ, BFTZ 2 และ BFTZ 3 รวมถึงสถานที่อื่นๆ นอกโครงการ BFTZ
เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเช่าพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้า Built-to-Suit รองรับการขยายธุรกิจ ซึ่งมีทั้งบริษัทสัญชาติไทยและบริษัทข้ามชาติแผนการพัฒนาปี 2564 ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูปภายในโครงการ BFTZ ทั้ง 3 แห่ง
โดยพื้นที่รวมกว่า 70,000 ตารางเมตร ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งแสดงความต้องการเช่าพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการ 4-5 ราย ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมอาหารและบริการโลจิสติกส์ เพื่อก่อสร้างอาคารโรงงาน และคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ภายในโครงการ BFTZ ทั้ง 3 แห่ง และพื้นที่นอกโครงการ B FTZ เช่น พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่ทางตอนเหนือกรุงเทพมหานคร คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 100,000 ตารางเมตร ที่ต้องการขยายธุรกิจรองรับการส่งออกและจัดเก็บสินค้า คาดว่าจะทราบผลการเจรจาดังกล่าวในช่วงไตรมาสแรก 2564 จากนั้นจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างอีกประมาณ 8-18 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ
“ช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการที่สนใจเช่าพื้นที่ทั้งโรงงานและคลังสินค้าอยู่ตลอด แม้ภาพรวมเศรษฐกิจถูกผลกระทบจาก COVID-19 แต่ยังมีอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีความต้องการขยายการลงทุนในย่านอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยโครงการ BFTZ, BFTZ 2 และ BFTZ 3 มีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีม่วงตามผังเมืองรวมจึงสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม ทำเป็นโรงงานได้ ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงมีพื้นที่บางส่วนที่ได้รับอนุญาตเป็นเขตปลอดอากร (Free Zone) ซึ่งผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ นอกจากนี้โครงการยังตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลจิสติกส์ สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกด้วย” น.ส.รัชนี กล่าว
น.ส.รัชนี กล่าวอีกว่า ภายหลังก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าแบบสำเร็จรูป และแบบ Built-to-Suit แล้วเสร็จและมีผู้เช่าทยอยเข้าใช้พื้นที่แล้ว จะรวบรวมสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อระดมทุนผ่านการเสนอขายแก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล หรือ PROSPECT ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ขณะที่อาคารคลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูปจำนวน 63 หลัง รวม 185 ยูนิต ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทรัสต์ PROSPECTโดยมีบริษัทฯ ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์นั้น ปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องมือแพทย์ ที่แสดงความต้องการเช่าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงมีอัตราการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 95% จากสิ้นไตรมาส 3/2563 อยู่ที่กว่า 91%