ดัชนีหุ้นไทยพุ่ง วอลุ่มเทรดทะลักหลักแสนล้านบาท ดันหุ้นกลุ่มโบรกเกอร์เริ่มพลิกฟื้น รับค่านายหน้าเทรดเติบโต กูรูคาดหนุนไตรมาสสุดท้ายปี 2563 ทะยาน และต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปี 2564 เตือนหากคึกจัด ระวังแรงเก็งกำไร ชี้ธุรกิจโบรกฯ จำเป็นต้องเพิ่มช่องทางรายได้ รองรับการปรับลดรายได้จากทางเดียวในอนาคต
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีหลักทรัพย์ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมากว่า 14.31% ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าส่งท้ายสิ้นปี 2563 ดัชนีฯ มีโอกาสยืนเหนือ 1,500 จุดนั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก และด้วยปริมาณซื้อขายที่สูงถึงระดับ 1.23 แสนล้านบาท ก็ทำให้หุ้นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ได้รับความสนใจด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมา จากการชะงักงันทางเศรษฐกิจเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงแรกเริ่ม ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลงมา อีกทั้งยังกดดันให้วอลุ่มซื้อขายเบาบาง แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น ตลาดหุ้นกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง จนทำให้ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับปริมาณซื้อขาย ย่อมทำให้รายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ดีขึ้น หลังจากเดือนกันยายนค่านายหน้าซื้อขายลดลงต่ำสุดในปี 2563 มีการประเมินผลประกอบการไตรมาส 4/63 ของหุ้นกลุ่มโบรกเกอร์น่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่มีวอลุ่มการซื้อขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 แสนล้านบาทต่อวัน
โดยเฉพาะโบรกเกอร์ที่มีนักลงทุนต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง เพราะแรงผลักดันดัชนีฯ ในช่วงนี้ส่วนใหญ่มาจากเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มชะลอตัวในช่วงท้ายปีเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล และคาดว่าจะเริ่มกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า โดยไม่จำเป็นต้องปรับลดค่าคอมมิชชันลงเพื่อดึงดูดลูกค้า ไม่เพียงเท่านี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า นอกจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายที่เพิ่มขึ้น กลุ่มโบรกฯ ยังมีกำไรจากพอร์ตลงทุนที่ดีขึ้นตามราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ที่ผ่านมา หลาย บล.เบนเข็มธุรกิจหันไปสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ เช่น ไปสู่ Derivative Warrants หรือ DW มากขึ้น รวมถึงมุ่งไปงานวาณิชธนกิจ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO หรือธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลักทรัพย์
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่กระตุ้นให้ธุรกิจโบรกเกอร์ดูดีขึ้นนั้นมาจากพัฒนาการของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นไทยไม่หวือหวา เนื่องจาก P/E อยู่ในระดับสูง ถ้าเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แถมยังถูกกดดันจากงบบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดไตรมาส 3 ออกมาย่ำแย่
ก่อนหน้านี้ กลุ่มโบรกเกอร์ได้รับข่าวดีจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือเวียนเรื่องการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเครื่องมือในการบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อรองรับกรณีที่ปริมาณธุรกรรมหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นรวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิในส่วนของการคำนวณค่าความเสี่ยงให้สะท้อนฐานะทางการเงินอย่างแท้จริง ไม่เป็นภาระเกินจำเป็น และรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป
หลังจากเกณฑ์ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจนั้นมีระบบงานที่ช่วยในการประเมินว่าขนาดเงินกองทุน NC ในปัจจุบันมีเพียงพอรองรับปริมาณธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่หากไม่เพียงพอ ผู้ประกอบธุรกิจอาจต้องดำเนินการเพิ่มทุนหรือปฏิเสธการทำธุรกรรมดังกล่าวไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ฐานะ NC ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขาดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจ อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีปริมาณคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สูงมากอย่างผิดปกติ ก็อาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรง NC ได้ตามหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการจัดทำแผนแก้ไขเงินกองทุนให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วหรือการถูกจำกัดการประกอบธุรกิจชั่วคราวตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยข้อกำหนดสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถดำรง NC ได้
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มากขึ้นและ มีเครื่องมือรองรับสถานการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นชั่วคราวได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ก.ล.ต. จึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้วงเงินกู้ด้อยสิทธิเพื่อชดเชยส่วนที่ NC ต่ำกว่าเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นการชั่วคราวได้เมื่อปริมาณธุรกรรมหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น โดยให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำรง NC ได้ตามเกณฑ์ปกติหากมีวงเงินกู้ ด้อยสิทธิเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า หุ้นในกลุ่มโบรกเกอร์นั้นมีหลายบริษัทที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการที่ฟื้นตัว และหลายบริษัทที่ผลประกอบการอ่อนแอลง เริ่มที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (MBKET) ราคาหุ้นปรับขึ้นจากช่วงต้นปีประมาณ 29% แต่รายได้รวม 3 ไตรมาสที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องจาก 753.35 ล้านบาท ในไตรมาส 1/63 เหลือ 570.25 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 อีกทั้งยังต่ำกว่าไตรมาส 3/62 ซึ่งทำได้ 674.92 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากค่านายหน้าลดลง
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิเพียง 3 ไตรมาสของ MBKET สามารถทำได้สูงกว่าทั้งปี 2562 ที่ระดับ 254.75 ล้านบาท โดยอยู่ที่ 310.42 ล้านบาท เป็นผลให้อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนปัจจุบันอยู่ที่ 9.89% ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ระดับ 10.15%
ถัดมา บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน)(TNITY) ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากต้นปี 5.61% โดย 3 ไตรมาสที่ผ่านมามีรายได้รวม 407.45 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2562 ที่ระดับ 995.94 ล้านบาท แต่ภาพรวมขาดทุนสุทธิ 7.10 ล้านบาท สาเหตุมาจากไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุน 105.56 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 94.76 ล้านบาท และไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิเพียง 3.70 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง แต่อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนในปัจจุบันอยู่ที่ 11.89% สูงกว่าทั้งปี 2562 ที่ระดับ 8.18%
ส่วน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (UOBKH) ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นปี 19.33% ภาพรวมรายได้ทั้งปีมีโอกาสสูงกว่าปี 2562 ซึ่งทำได้ 1.04 พันล้านบาท หลัง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาทำได้ 1.03 พันล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 186.14 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 15.93 ล้านบาท แต่อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.20% ขณะที่ 4 ปีก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 2.42-2.63%
ด้าน บล.ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) (ZMICO) ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นลดลง 7.79% ที่ผ่านมามีรายได้รวม 111.03 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2562 มีรายได้รวม 191.18 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิ 3 ไตรมาสแตะ 8.26 ล้านบาท ต่ำกว่าทั้งปี 2562 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 81.33 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ N/A
ขณะที่ บล.เออีซี จำกัด (มหาชน) (AEC) ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปี -35% ขณะที่รายได้รวมตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาส 3/63 ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 38.73 ล้านบาท เหลือ 9.27 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 3 ไตรมาสติดต่อรวม 255.27 ล้านบาท ด้วยเหตุผลรายได้ค่านายหน้าลดลง เนื่องจากบริษัทไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามที่ประกาศกำหนดได้ ทำให้ต้องระงับการดำเนินธุรกิจชั่วคราว อีกทั้งมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากค่าที่ปรึกษาการลงทุนลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ N/A
ด้าน บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ASP) ตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.71% อย่างไรก็ตาม รายได้รวม 3 ไตรมาสปี 2563 พบว่าลดลงต่อเนื่องจาก 613.09 ล้านบาทในไตรมาสแรก เหลืออยู่ที่ 474.09 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 ทำให้กำไรสุทธิลดลงต่อเนื่อง โดยรวม 3 ไตรมาสอยู่ที่ 285.75 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 4% จากช่วง 9 เดือนปี 2562 เพราะมีรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่รายได้ค่าธรรมเยียมและบริการลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 6.31% จากปี 2562 11.49%
สำหรับบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (CGH) ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 18% จากช่วงต้นปี เช่นเดียวกับรายได้รวม 3 ไตรมาสที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องจาก 382.61 ล้านบาท เหลือ 317.24 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 302.08 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิพบว่า 3 ไตรมาสมีกำไรสุทธิ 107.60 ล้านบาท สูงกว่าทั้งปี 2562 ซึ่งทำได้ 82.61 ล้านบาท แม้ไตรมาส 2/63 จะขาดทุน 10.89 ล้านบาท แต่ก็สามารถฟื้นกลับมาที่ระดับ 32.03 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 ส่วนไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 86.47 ล้านบาท แต่อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนยังเป็น n/a ต่อเนื่องมาจากปี 2562 ขณะที่ปี 2561 อยู่ที่ 3.65% โดยมีสาเหตุจากรายได้ค่านายหน้าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับรายได้ดอกเบี้ยซึ่งส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนปัจจุบันเป็น n/a จาก 3.26% และ 3.77% ในปี 2561-2562
สำหรับบริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GBX) ราคาหุ้นปัจจุบันลดลงจากช่วงต้นปี 13% ขณะที่รายได้ไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 1.53 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 8.3 พันล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำไว้ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ ถือว่าเติบโตต่อเนื่องจาก 1.60 ล้านบาทปี 2560 มาอยู่ที่ 14.79 ล้านบาทในปี 2562 และ 16.94 ล้านบาทใน 3ไตรมาสรวมกันของปีนี้ ซึ่ง บริษัทให้เหตุผลว่ามีรายได้จากการขายทองคำแท่งลดลง แต่มีรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และอนุพันธ์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนยังเป็น n/a มาตั้งแต่ปี 2561 จาก 4.0% ในปี 2560
ปิดท้ายที่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KGI) พบว่าราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีลดลง 14% โดยรายได้รวม 3 ไตรมาสปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่องจาก -131.05 ล้านบาทในไตรมาสแรกมาอยู่ที่ 692.82 ล้านบาท และ 1.06 พันล้านบาทในไตรมาส 2 และ 3 ผลักดันให้กลับมามีกำไรสุทธิรวม 160.64 ล้านบาท จากไตรมาสแรกขาดทุน 507.73 ล้านบาท นั่นเพราะมีรายได้จากค่านายหน้าเพิ่มขึ้น 18% ซึ่งเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุนของ บลจ.วรรณ จำกัด ทำให้อัตราส่วนเงินปันผลในปัจจุบันคือ 8.79% สูงกว่า 8.63% ของปี 2562 เล็กน้อย
ด้าน “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า การที่ปริมาณซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสูงถึง 7-8 หมื่นล้านบาท ยังไม่สามารถการันตีอะไรให้หุ้นในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จะกลับมายั่งยืน เพียงแต่ช่วงเวลานี้จนถึงปี 2564 ถือเป็นช่วงที่พีกสำหรับหุ้นกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โดยกลุ่มโบรกฯ ถือว่ากำไรยังน้อย และส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ไหลไปอยู่กับโบรกเกอร์รายใหญ่สุด ขณะที่อันดับ 2 ลงมานั้นมีมาร์เกตแชร์น้อยมาก
"การปรับตัวที่ดีขึ้นของหุ้นกลุ่มโบรกฯ เป็นไปตามปริมาณการซื้อขายรวมของตลาด กลับกันถ้าหุ้นโบรกฯ ดูดี วอลุ่มซื้อขายคึกคัก แสดงว่าตลาดเริ่มน่ากลัว ถ้าหากเปรียบเทียบกับสถิติย้อนหลัง"
ส่วนเทคโนโลยี Robot Trade นั้นเชื่อว่าจะไม่ disruption ธุรกิจโบรกเกอร์ แต่จะทำให้ปล่อยกู้มาร์จิ้นได้น้อยลง อีกทั้งนักลงทุนจะไปหาแหล่งทุนจากที่อื่นทำให้โบรกเกอร์มีกำไรมาร์จิ้นน้อยลง ต้องมองมองหาช่องทางทำเงินจากเวลธ์อื่นๆ เพื่อทดแทนค่าฟี หรือค่าธรรมเนียมที่ลดลง