xs
xsm
sm
md
lg

ส่องตลาดหุ้นไทย ผ่านโครงสร้างผู้ถือหุ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มีบัญชีที่เปิดเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์กว่า 3.32 ล้านบัญชีในตลาดหุ้นไทย เพิ่มขึ้นกว่า 554,000 บัญชี จากสิ้นปีผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ปกติเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 230,000 ถึง 330,000 บัญชี) และมีนักลงทุนรวม 1.45 ล้านราย เพิ่มขึ้น 13.68% จากเดือนมกราคม 2563

สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ และบุษบา คงปัญญากุล ฝายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงรายงานสรุปใน SET NOTE ฉบับที่ 12/2563 ว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 การเปิดบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นกว่า 550,000 บัญชี ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มีบัญชีซื้อขายกว่า 3.32 ล้านบัญชี จากนักลงทุนรวม 1.45 ล้านราย

โดยในปี 2563 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากผู้ต้องการลงทุน ดังเห็นได้จากจำนวนบัญชีที่เปิดบัญชีจำนวนมาก โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 พบว่า มีบัญชีที่เปิดสำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดรวม 3.32 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นกว่า 554,000 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 20% จากสิ้นปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปกติที่จะมีจำนวนบัญชีเปิดใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 230,000 ถึง 330,000 บัญชี นอกจากนี้ ยังพบว่าบัญชีเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดเป็นบัญชีซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต โดยจำนวนบัญชีชี้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่า 553,000 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 22% ไปอยู่ที่ 3.02 ล้านบัญชี และมีข้อสังเกตว่า ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ SET Index ปรับตัวลดลง มีการเปิดบัญชีการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่าเดือนละ 77,000 บัญชี

ขณะเดียวกัน สัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศของ ตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นไต้หวัน จากการประมาณการมูลค่าการถือครองหุ้นจากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียน และข้อมูล Corporate Action ของบริษัทจดทะเบียน 695 บริษัท จากทั้งหมด 712 บริษัท ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) พบว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนในประเทศและการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ระดับ 73% ต่อ 27% ใกล้เคียงกันกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นไต้หวัน

ส่วนตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจทั้งการลงทุนในระยะสั้นและระยะยาวและมีสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์ในระดับสูง สังเกตได้จากสัดส่วนนักลงทุนระยะยาวมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการ (strategic shareholders) ไม่แตกต่างกันมากนักกับสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนรายย่อย (% free float)

ทั้งนี้ หากพิจารณาแบ่งนักลงทุนตามการมีส่วนในการบริหารกิจการ สามารถแบ่งนักลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) นักลงทุนกลยุทธ์ (strategic shareholders) หมายถึง นักลงทุนที่มีส่วนร่วมในการบริหารกิจการ ให้ความสำคัญกับการถือครองหุ้นระยะยาว และ 2) นักลงทุนรายย่อย (free float) คือ นักลงทุนอื่นที่นอกเหนือจากนักลงทุนกลยุทธ์

“นักลงทุนกลยุทธ์” ตามคำนิยามจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้บริหาร 4 อันดับแรกขององค์กร รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์ เช่น คู่สมรส บุตร ธิดา เป็นต้น

ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนชำระแล้ว โดยนับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ยกเว้น บางหน่วยงานตามคำนิยาม

ผู้มีอำนาจควบคุม หรือผู้ที่มีพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอำนาจตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตาม

นอกจากนี้ ยังพบว่าในกลุ่มของนักลงทุนในประเทศนั้น “นักลงทุนบุคคล” มีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นรวมสูงสุดทั้งในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นไต้หวันที่ระดับ 28% และ 36% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด ตามมาด้วยบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ ที่ระดับ 18.0% และ 22.7% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดตามลำดับ

จากสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนรายย่อย (%free float) ของบริษัทจดทะเบียน พบว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 นักลงทุนรายย่อยมีมูลค่าการถือครองหุ้นอยู่ที่ 45.26% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ขณะที่นักลงทุนกลยุทธ์มูลค่าการถือครองหุ้นอยู่ที่ 54.74 %

แสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจในระยะยาว โดยมีนักลงทุนกลยุทธ์ถือครองหุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาด และเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง สังเกตได้จากนักลงทุนรายย่อยที่มีมูลค่าการถือครองกว่า 40% และมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันที่สูงกว่าตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน

นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยถือครองหุ้นตรงกับสิทธิการออกเสียงในการที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการถือครองหุ้นแต่ละกลุ่มพบว่า มีความสอดคล้องกับประเภทนักลงทุน โดย 73% เป็น local shares (เท่ากับสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนในประเทศ) ตามมาด้วย 21% เป็น foreign shares และ 6% เป็น NVDR ซึ่งสอดคล้องกับนักลงทุนต่างประเทศที่ถือครองหุ้น 27% เท่ากับการถือครองหุ้น foreign shares และ NVDR รวมกัน

จากพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ตนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในธุรกิจบางประเภท หรือเพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างประเทศมีบทบาทในกิจการมากกว่าคนไทย โดยการจำกัดสัดส่วนการถือครองหุ้นสูงสุดในแต่ละกิจการของนักลงทุนต่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “เพดานการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ” (Foreign Ownership Limit : FOL) ซึ่ง FOL ของแต่บริษัทอาจมีความแตกต่างกัน ทั้งจากอัตราที่กำหนดในพระราชบัญญัติของแต่ละธุรกิจ การกำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล หรือหนังสือบริคณห์สนธิของแต่ละบริษัท เป็นต้น

จากเพดานการถือครองหุ้นดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถแบ่งหุ้นในตลาดหุ้นไทยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) local shares หุ้นสำหรับนักลงทุนไทย และ 2) foreign shares หุ้นสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ที่มีจำนวนจำกัดตามเพดานการถือครองของแต่ละบริษัท

ทั้งนี้ นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายหุ้นได้ทั้ง 2 กลุ่ม แต่ความแตกต่างจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ กล่าวคือ หากปิดสมุดฯ แล้ว นักลงทุนไทยถือ foreign shares จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ เช่นเดียวกันกับกรณีที่นักลงทุนต่างประเทศถือ local shares

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศมีความสนใจค่อนข้างสูงในตลาดหุ้นไทย และถือครองหุ้นเต็มเพดาน ทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาถือครองหุ้นเพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านการเงินได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยจึงจัดให้มีหุ้นกลุ่ม NVDR (Non-Voting Depository Receipts) เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนต่างประเทศยังสามารถลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินแต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง

ดังนั้น ปัจจุบันในตลาดหุ้นไทยจึงสามารถแบ่งกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียง ได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ local shares, foreign shares และ NVDR ซึ่งจากข้อมูลการถือครองหุ้น ปี 2563 พบว่า 73% เป็น local shares ตามมาด้วย foreign shares 21% และ NVDR ประมาณ 6% ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นที่แบ่งตามประเภทนักลงทุนที่กล่าวมาข้างต้น โดยมูลค่าการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศเท่ากับ 27% เท่ากับสัดส่วนของมูลค่าหุ้น foreign shares และ NVDR ที่ถือว่าเป็นกลุ่มหุ้นสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งยังคงมีรูปแบบเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังพบว่านักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศถือครองได้ตรงตามกลุ่มหุ้นที่แบ่งไว้ กล่าวคือ หุ้นเกือบทั้งหมดในพอร์ตการถือครองหุ้นของนักลงทุนไทย (99.84%) ของมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนไทยเป็น local shares และที่เหลือเพียง 0.16% เป็นการถือครอง foreign shares และ NVDR ขณะที่ในพอร์ตการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่เป็น foreign shares และ NVDR ซึ่งมีมูลค่าถือครองหุ้นรวมกว่า 99.99% ขณะที่มีการถือครอง local shares น้อยมาก ไม่ถึง 0.01% ของมูลค่าการถือครองรวมของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อสังเกตจากสัดส่วนมูลค่า local share ที่นักลงทุนต่างประเทศถือครองมีสัดส่วนลดลง


กำลังโหลดความคิดเห็น