สำรวจหุ้นเดินเรือ พบ RCL โดดเด่นสุดราคาหุ้นปัจจุบันเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2 เท่า จากความต้องการสินค้าทั่วโลกหนุนโดยเฉพาะ E-commerce เติบโตก้าวกระโดด อีกทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงลด ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดี และได้รับแรงหนุนจากค่าระวางที่ดีดตัว ภาพรวมทั้งกลุ่มไตรมาส 4/63 สดใส แต่ไม่ควรประมาทโควิด-19 แม้วาดฝันปี 64 ทั้งอุตสาหกรรมโดดเด่น
จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางเมื่อช่วงต้นปี 2563 และการเริ่มแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล้วนกดดันให้หุ้นกลุ่มเดินเรือได้รับผลกระทบ จากต้นทุนราคาน้ำมันที่มีความผันผวน อีกทั้งเส้นทางการเดินเรือหลายเส้นทางหยุดชะงักจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค จนทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้เมื่อช่วงต้นปี ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในวันนี้ หลายสิ่งเริ่มเปลี่ยนไปสำหรับหุ้นกลุ่มเดินเรือ เพราะในตอนนี้กลับถูกยกขึ้นมาแนะนำแก่นักลงทุนในการเข้า “เก็งกำไร” รับค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
สาเหตุที่ทำให้หุ้นกลุ่มเดินเรือกลับมาสดใสอีกครั้งหนีไม่พ้น ปัจจัยสำคัญ นั่นคือ ต้นทุนสำคัญอย่างราคาน้ำมันในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำ หรือลดลงจากเดิมมาก ขณะเดียวกัน จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนได้ถูกคลี่คลายลง ทำให้สินค้าจำนวนมากเริ่มถูกส่งออกไปตามประเทศต่างๆ ตามปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ชะงักไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด “กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันมีสมาชิกของ สรท.จำนวนมาก ร้องเรียนมาถึงปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทั้งสายเดินเรือที่ไปสหรัฐฯ จะปรับขึ้นมากกว่า 3 เท่า เป็น 4-5 พันเหรียญสหรัฐ จากเดิม 1-2 พันเหรียญสหรัฐ เพราะค่าระวางเรือขนส่งสินค้าขยับขึ้นเป็น 1-2 พันเหรียญสหรัฐ จาก 700-800 เหรียญ ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่าค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บบริเวณท่าเรือยังปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ซึ่งถือเป็นภาระของผู้ส่งออก
ส่วนเหตุผลของการปรับเพิ่มค่าบริการ สรท.ชี้แจงว่า ได้รับข้อมูลจากบริษัทสายเดินเรือว่ามาจาก มีการส่งออกสินค้าของจีน และเวียดนาม รวมถึงจากไทยไปสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการตู้ขนส่งสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน พบว่ามีตู้ขนส่งสินค้าค้างอยู่ที่จีน และเวียดนามมากขึ้นแล้ว ทำให้ตู้ขนส่งสินค้าหมุนเวียนกลับมาน้อยลง จนเป็นเหตุให้ตลาดขนส่งสินค้าเกิดภาวะขาดแคลนตู้สินค้า จนมีผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เริ่มมีสัญญาณที่ผู้ประกอบการทั่วโลกจะเริ่มการสั่งซื้อสินค้าเพื่อ Restock ครั้งใหญ่ภายหลังมีวัคซีนโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเดินหน้าอีกครั้ง สะท้อนมายังค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ที่ปรับขึ้นแรงต่อเนื่อง (Shanghai Containerized Freight index +137% จากจุดต่ำสุดของปีนี้ในเดือน เม.ย.2563) ทำให้ประเมินจะเกิดการ Restock สินค้าครั้งใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทสิ่งทอและยานยนต์ ที่ชะลอตัวไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มรองรับการเดินทางท่องเที่ยว รวมไปถึงวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ของอุปกรณ์ไอที
นอกจากนี้ ธุรกิจ E-commerce ที่กำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ เป็นผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยเร่งมาจากวิกฤตโควิด-19 และยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นได้ เนื่องจากธุรกิจ E-commerce ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวกินส่วนแบ่งของธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิมได้อีกมากากปัจจัยข้างต้น หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นบริษัท อาร์ซีแอล จำกัด (มหาชน) (RCL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 209% จากช่วงต้นปีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10.30 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน
โดยล่าสุด บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส3/63 ว่า ยังคงดีขึ้นต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ และดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/62 อย่างมาก โดยมีกำไร 257 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน 324 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/63 รายได้รวมของบริษัทลดลง 1% เหลือ 4.07 พันล้านบาท จาก 4.11 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันปี 2562 เนื่องจากปริมาณขนส่งตู้สินค้าลดลง 1% จาก 5.59 แสนตู้ เหลือ 5.62 แสนตู้
ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่าต้นทุนการเงินลดลง 15% หรือ 606 ล้านบาท เหลือ 3.51 พันล้านบาท จากการจัดการด้านการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ผนวกกับาคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยลดลง ขณะเดียวกัน ต้นทุนการขนส่งตู้สินค้ายังลดลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 34% รวมถึงการลดจำนวนเรือที่เช่า จนทำให้ต้นทุนการเช่าเรือลดลง 20% จากโอกาสในวิกฤตที่เกิด ทำให้ RCL ถูกประเมินว่าจะเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ผลงานในปีนี้จะพลิกกลับมา Turnaround จากที่ขาดทุนในช่วงก่อนหน้า 2 ปีซ้อน หลังจากในครึ่งปีแรกบริษัทมีกำไรสุทธิ 227 ล้านบาท พลิกจากปี 2562 ที่ขาดทุนสุทธิ 16 ล้านบาท เป็นผลจากการบริหารจัดการเส้นทางเดินเรือที่ดีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ปริมาณขนส่งสินค้าลดลงแต่รายได้จากการเดินเรือต่อตู้สินค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังควบคุมต้นทุนจากการดำเนินงานได้ดีและรับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง
มีรายงานว่าค่าระวางอ้างอิงจากดัชนี WCI (World Container Index) ที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของปี ณ เดือน ก.ย.ที่ 2,600 $ per 40ft container สาเหตุจากสายเดินเรือรายใหญ่ของโลกร่วมมือกัน manage capacity ในช่วงโควิด ขณะที่ demand เริ่มทยอยฟื้นหลังผ่อนคลาย lockdown และมาเร่งขึ้นในไตรมาส 3 ซึ่งเป็น high season ของการขนส่งก่อนเข้าช่วง golden week ของจีนวันที่ 1 ต.ค.63 แต่โดยหลักแล้วรับผลบวกจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังทรงตัวต่ำเทียบปีก่อน
ก่อนหน้านี้ พบว่า RCL พยายามในการดำเนินการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น การแวะจอดท่าเรือเฉพาะกิจเพิ่มเติมเพื่อรับส่งสินค้า และจัดเดินเรือรับส่งสินค้าเพิ่มในบางเส้นทาง อย่างไรก็ดี ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าในไตรมาส 2/63 มีจำนวน 465,000 ตู้ ลดลด 15% จากปี 2562 ในทางตรงกันข้ามปริมาณการขนส่งตู้สินค้าที่ลดลง กลุ่มบริษัทฯมีรายได้จากการเดินเรือต่อตู้เพิ่มขึ้น 8% ทำให้รายได้ลดลงเพียง 9% ไม่เพียงเท่านี้ นอกจากราคาหุ้น RCL ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว พบว่าราคาหุ้นในกลุ่มเดินเรือเช้านี้ปรับตัวขึ้นในทุกบริษัทด้วยเช่นกัน โดย คาดว่าจะเป็นผลจากการมองเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 ซึ่งทำให้การค้าต่างๆ ดีขึ้น ส่งผลให้การขนส่งดีขึ้น ทำให้นักลงทุนจึงหันมาให้น้ำหนักต่อหุ้นโลจิสติกส์
นอกจากนี้ ค่าระวางเรือกต่างที่ปรับตัวขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนผลดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับมุมมองทางธุรกิจของ “คาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม” กรรมการผู้จัดการ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) โดยเชื่อว่า แนวโน้มผลงานในช่วงไตรมาส 4/63 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3/63 หลังค่าระวางเรือ (BDI) มีการปรับตัวต่อเนื่อง ซึ่งปกติในช่วงไตรมาส 3/63 จะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจที่มีความต้องการขนส่งมาก และการฟื้นตัวจากการขนส่งสินค้าทางเรือในประเทศจีน โดยเชื่อว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นช่วงที่มีความต้องการขนส่งทางเรือเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 ที่เกิดขึ้น อาจมีผลกระทบต่อการขนส่งในบางภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ที่มีการแพร่ระบาดรอบ 2 เกิดขึ้น และมีการล็อกดาวน์ ซึ่งบริษัทมองว่าโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่การกดดันธุรกิจในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2564 โดยยอมรับว่าผลงานในปีนี้ยังคงได้รับแรงกดดันอย่างมากจากโควิด-19 ทำให้มีผลงานขาดทุนค่อนข้างมากในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมากว่า 1.3 พันล้านบาท
สำหรับปี 2564 บริษัทยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีผลการขนส่งทางเรือซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท ประกอบกับบริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆอย่างต่อเนื่อง และยังชะลอแผนการลงทุนซื้อเรือใหม่เข้ามา พร้อมกับการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าไปในประเทศ หรือภูมิภาคที่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี โดยเฉพาะในเอเชีย และหากสถานการณ์คลี่คลายลงอย่างชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้น จะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเดินเรือขนส่งกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้มากขึ้นจากการค้าขายทั่วโลกที่กลับมา ส่งผลต่อความต้องการใช้เรือในการขนส่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ผลงานของบริษัทสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้
เช่นเดียวกัน “จิเทนเดอร์ พอล เวอร์มา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (TTA) เชื่อว่า แนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 4/63 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง และฟื้นตัวจากไตรมาส 3/63 จากธุรกิจหลักคือ การส่งสินค้า (Shipping) และธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง (OFFSHORE SERVICE) ที่ดีต่อเนื่องรวมถึงธุรกิจเคมีเกษตร (Agrochemical) และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
โดยแนวโน้มการเติบโตรายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้า คาดว่าในกลุ่มสินค้าเทกองจะเติบโตประมาณ 4% ซึ่งหากคิดเป็นการเติบโตระยะตันไมล์อยู่ที่ 4.4% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าปี 2562 และเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จึงคาดว่าปี 2564 การเติบโตจะกลับมาชดเชยปีนี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับดัชนีค่าระหว่างเรือ (BDI) ในช่วงไตรมาส 3/63 เพิ่มมาอยู่ที่ 1,522 จุด ดีขึ้นจากไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 783 จุด ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากในระดับที่สูง และความต้องการในสินค้าเทกองเริ่มกลับมาฟื้นตัว ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกต่อธุรกิจขนส่งเรือเทกอง และเริ่มเห็นแนวโน้มของตลาดที่เป็นบวกมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการนำเข้าแร่เหล็กของจีนที่แข็งแกร่งและการส่งออกถั่วเหลืองที่ดีขึ้นจากทั้งสหรัฐฯ และบราซิล
ทำให้คาดว่าทางด้านอัตราการเติบโตของกองเรือ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% เทียบกับปีก่อน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย หากเทียบกับความต้องการสินค้าเทกองจะเติบโตอยู่ประมาณ 4% ซึ่งการสั่งต่อเรื่องใหม่ในปัจจุบันอยู่ที่ 7% ของโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำ และคาดว่าไตรมาสที่ 4/63 รายได้ในกลุ่มเดินเรือจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เชื่อว่าหุ้นกลุ่มเดินเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม RCL ที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้ต้นทุนปรับตัวลดลง จึงทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร และส่งผลดีต่อหุ้นตัวอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม PSL และ TTA ที่ให้บริการขนส่งสินค้าเทกอง โดยต้นทุนน้ำมันเป็นภาระของผู้จ้างเดินเรือ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ลูกค้าชะลอจ้างเดินเรือ แต่ RCL ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์นั้นจะมีการเดินเรือต่อเนื่องไม่ได้หยุดวิ่ง จึงได้รับผลประโยชน์มากสุด อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเดินเรือแม้สามารถเก็งกำไรได้ แต่ต้องเลือกเป็นรายตัว และต้องมีวินัยการลงทุนในการกำหนดจุดตัดขาดทุน