xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นโรงไฟฟ้าขยับเพิ่มไม่หยุด ความเสี่ยงต่ำแถมต้นทุนลด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โรงไฟฟ้า” ความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนลด แถมแผนเดินหน้าขยายกำลังการผลิตยังหนุนกำไรเติบโตต่อเนื่อง ด้าน GULF โดดเด่น มีโอกาสเติบโตยาวในระยะ 10 ปีข้างหน้า ส่วน BRGIM ยังมี Upside จากโรงไฟฟ้า SPP ขณะที่ GPSC ขยายตัวไม่หยุด

“หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า” ถือเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปั่นป่วนในช่วง 4-5 เดือนแรกของปี 2563 ขณะเดียวกัน จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงไปจากความกังวลในวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส พบว่าราคาหุ้นโรงไฟฟ้าค่อยๆ สะสมแรงของตัวเองเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และ ล่าสุด เริ่มมีกระแสเชียร์ให้นักลงทุนหันมาเพิ่มน้ำหนักต่อหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น ประเด็นสำคัญหนีไม่พ้นนโยบายการใช้หาเสียงของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา “โจ ไบเดน” ที่ให้ความใส่ใจต่อเรื่องพลังงานสะอาด ทำให้ราคาหุ้นโรงไฟฟ้าหลายบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงการนับคะแนนเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในตลาดหุ้นไทยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ จะพบว่าโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่หลายบริษัทผันตัวเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้น นอกจากนี้ องค์กรขนาดใหญ่หลายกลุ่มขยับเข้ามาให้ความสำคัญต่อธุรกิจดังกล่าว ผ่านรูปแบบการเพิ่มเป็นธุรกิจใหม่ หรือจัดตั้งบริษัทลูกเข้ามาดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ พลังงานไฟฟ้า รวมถึงพลังงานสะอาด ได้รับการสนับสนุนผ่านนโยบายภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดประมูล หรือการให้สัมปทานที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ด้วยศักยภาพทางธุรกิจที่มั่นคง และการเดินหน้าขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลประกอบการหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทมีผลประกอบการที่มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด ยิ่งทำให้นักลงทุนให้ความสนใจเป็นพิเศษ จนราคาหุ้นบางบริษัทถูกมองว่ามีราคาที่สูงขึ้นเกินไป และทำให้ภาพรวมทั้งกลุ่มมีมูลค่า P/E อยู่ในระดับสูง นำไปสู่การถูกลดความน่าสนใจจากนักลงทุน

ข้อมูลที่ชี้ชัดได้ดีที่สุด หนีไม่พ้นผลงานที่หุ้นกลุ่มนี้สร้างขึ้นมาในอดีต โดยเฉพาะในปี 2562 นับว่าเป็นปีทองสำหรับกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าก็ว่าได้ เนื่องจากมี 3 หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าเข้ามาติดในโผ 10 หุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุดของ SET100 และกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาติด 10 อันดับหุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุดของ SET100 มากที่สุด ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ซึ่งปี 2562 ให้ผลตอบแทน 98.16% รั้งอันดับ 3 หุ้น ถัดมาคือ บริษัท บี.กริมเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ซึ่งปี 2562 ให้ผลตอบแทน 95.28% รั้งอันดับ 4 และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ให้ผลตอบแทน 40.60% รั้งอันดับ 8 สาเหตุที่กลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าทำผลงานได้เป็นอย่างดีในปีดังกล่าว เนื่องจากปี 2562 เป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจผันผวน และกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าถือว่าเป็นกลุ่มหุ้นปลอดภัยในช่วงภาวะเศรษฐกิจผันผวน โดยกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดกลางอย่าง GULF และ GPSC นั้นพบว่าได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากคาดว่าผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาวจะทำผลงานได้ดี

นอกจากนี้ หุ้นโรงไฟฟ้าเกือบทั้งอุตสาหกรรมต่างมี Backlog ที่มีสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่นๆ อยู่ในมืออย่างแน่นอน ถือว่าช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างมาก นำไปสู่ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มั่นใจว่าหุ้นกลุ่มนี้ยังจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะกลาง และระยะยาว ไม่เพียงเท่านี้ โรงไฟฟ้าขนาดกลาง (SPP) ยังมีปัจจัยบวกที่จะหนุนการเติบโตในระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากรัฐบาลไทยยังเปิดทางให้ผู้ประกอบการต่างๆ ยื่นคำร้องขอเปิดโรงไฟฟ้าต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน แผนขยายธุรกิจของบริษัทต่างๆ ล้วนมีทิศทางเชิงบวกต่อผลประกอบการ เห็นได้จากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น ของหลายๆ บริษัท ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเชื่อมั่นในการสร้างผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น รวมถึงการเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น สอดรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้ามีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ “หุ้นโรงไฟฟ้า” ถือเป็น Defensive Play ในภาวะที่ตลาดหุ้นในภาพรวมยังมีความเสี่ยงนั่นเอง โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มสถาบันจะให้น้ำหนักต่อหุ้นในกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นแม้ว่าตลาดหุ้นในภาพรวมไม่ได้ดีนัก

ล่าสุด GULF ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/63 พบว่า บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) เท่ากับ 1,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้งจากกลุ่ม GMP และ GJP สามารถขายไฟฟ้าและไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสก่อน โดยปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 มีการฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นจากการขายสูงขึ้นจาก 23.1% ในไตรมาสก่อน เป็น 25.9% ในไตรมาสนี้

นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศเวียดนาม ทั้ง 2 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG ยังมีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 รวมถึงบริษัทยังได้รับเงินปันผลเป็นจำนวนรวม 360 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินปันผลจาก INTUCH จำนวน 295 ล้านบาท SPCG จำนวน 62 ล้านบาท และ EDL-Gen จำนวน 3 ล้านบาท ทำให้บริษัทบันทึก Core Profit สูงเป็นประวัติการณ์

ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัท มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) เท่ากับ 2,959 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 258 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับ 2,701 เมกะวัตต์ในไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG ในเดือนมีนาคม 2563 และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่เยอรมนี (กำลังการผลิตติดตั้ง 465 เมกะวัตต์) และจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไรเต็มไตรมาสในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยในปี 2564 บริษัทคาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวประมาณ 6,000 ล้านบาท

ด้าน BGRIM รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 745 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเติบโตของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในอัตราถึง 28% จากไตรมาสก่อนหน้า ผลักดัน EBITDA Margin สู่ระดับสูงสุดที่ 30.4% โดยในช่วงที่เหลือของปี บริษัทคาดปริมาณการขายไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม และหลังจากนั้นได้มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องมาโดยตลอด และกลับสู่ภาวะปกติในเดือนกันยายน-ตุลาคม

ส่วน GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/63 มีรายได้ 16,601 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,681 ล้านบาท หรือ 188% แม้ว่ารายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำจะลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน หยุดซ่อมบำรุง และโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน หยุดซ่อมแซม

อย่างไรก็ตาม ด้วยการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าและต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน รวมถึงเงินปันผลรับจากบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด ทำให้บริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากการรับรู้รายได้ และกำไรของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (GLOW) เต็มทั้ง 9 เดือน ในขณะที่ในช่วงปี 2562 รับรู้รายได้จาก GLOW เพียง 18 วัน ในช่วงไตรมาส 1 และรับรู้เต็มไตรมาสในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3

ด้าน บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ประเมินทิศทางธุรกิจ GULF ว่า ข้อมูลที่ได้จากการประชุมนักวิเคราะห์เป็นค่อนข้างเป็นบวก โดย 5 ด้านหลักที่บริษัทมุ่งให้ความสำคัญในระยะสั้น อย่าง 1.โรงไฟฟ้า gas to power 2.พลังงานหมุนเวียน (พลังงานลม) 3.ใบอนุญาต LNG shipper 4.โรงไฟฟ้าในลาว และ 5.โครงสร้างพื้นฐาน (LCP เฟสที่ 3 และงาน O&M มอเตอร์เวย์) ทำให้เชื่อว่ามีโอกาสลงทุนมากมายในเวียดนาม (ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้า conventional) นำไปสู่ประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักปี 2563 มี upside น้อยลงที่ 5% (จากเดิม 10%) เพราะต้นทุนค่าที่ปรึกษาโครงการ Borkum แต่ยังคงคำแนะนำซื้อ และให้ราคาเป้าหมายที่ 39.50 บาท

“เราชอบ GULF ในฐานะที่เป็นหุ้น super growth ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมองว่ายังมีโอกาสสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก (ก่อหนี้ได้อีกถึง 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 2,600MWe ภายใต้สมมติฐานต้นทุนที่ US$1.2mn/MW) กว่าจะชนเพดานการก่อหนี้”

ส่วน BGRIM จะได้แรงหนุนจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ PPA จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2568 เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และทำสัญญา PPA กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. อีก 25 ปี เพราะมีโครงการของบริษัทเข้าข่ายที่จะร่วมโครงการนี้ได้ ทำให้มองว่ายังมี Upside จาก SPP อีก 2.00 บาทต่อหุ้น และ GPSC บล.หยวนต้า ประเมินว่า แนวโน้มไตรมาส 4/63-ไตรมาส 1/64 แม้โรงไฟฟ้า IPP - ห้วยเหาะ จะมี Dispatch ที่ลดลงตามฤดูกาล และไตรมาสาแรกปีหน้า ค่า Ft จะลดลงเป็น -15.32 สตางค์/หน่วย อย่างไรก็ตาม คาดผลการดำเนินงานจะสามารถประคองตัวระดับสูง หนุนจาก 1) ราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลงต่อเนื่อง 2) ประโยชน์จาก Synergy เป็นไปตามแผน 3) โรงไฟฟ้า GLOW Phase 5 เริ่มกลับมาจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่ 18 ต.ค. นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างติดตามประกันภัยความเสียหาย โดยมีค่าเสียโอกาสทั้งหมด 350-400 ล้านบาท 4) การขยายกำลังผลิตของ PTTGC ทำให้มีอุปสงค์ไฟฟ้าเพิ่ม 30 MW และไอน้ำเพิ่ม 50 ตัน/ชั่วโมง ทำให้ยังชอบการเติบโตระยะยาวของ GPSC จากการเป็น Flagship ของเครือ PTT รวมทั้งมีการลงทุนพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ซึ่งสอดคล้องต่อความต้องการพลังงานของโลก








กำลังโหลดความคิดเห็น