ธปท.ขยายการทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานภายใต้ Regulatory Sandbox 17 แห่ง เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เปิดบัญชีกองทุนซื้อกรมธรรม์ ประกันขอสินเชื่อ หลังจากให้แบงก์ 5 แห่งเปิดบัญชีเงินฝากได้สำเร็จ คาดมีผู้เข้าใช้ NDID มากกว่า 40 ล้านราย จากทั้งหมด 80 ล้านบัญชี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สนับสนุนการขยายการทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์ม เนชันแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID หรือ NDID) ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. จากการให้บริการในภาคธนาคารพาณิชย์ไปสู่บริการในภาคตลาดทุน ประกันภัย และการขอข้อมูลเครดิต ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบัญชีกองทุน ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย และขอข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau หรือ NCB) ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น เว็บไซต์หรือโมบายแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากธนาคารที่ตนเองเคยเปิดบัญชีเงินฝากและถ่ายรูปโดยใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน และปลอดภัยในการใช้บริการ โดยลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาแสดงตัวตนที่สาขา หรือสถานที่ทำการของผู้ให้บริการ
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์ได้เข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. สำหรับบริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานเพื่อเปิดบัญชีเงินฝากเป็นบริการแรกตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อรองรับการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในวันนี้ ธปท. ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเข้าลงทะเบียนแล้ว 10 ล้านราย คาดหวังว่าจะลงทะเบียนมากกว่า 40 ล้านรายจากทั้งหมด 80 ล้านบัญชี เนื่องจากแต่ละรายมีหลายบัญชีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“การทดลองเราพบปัญหาอย่างหนึ่งคือการเข้ายืยยันตัวตนในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทำให้ลูกค้าสบสนแล้วเข้าระบบการยืนยันตัวตนได้ยากและช้า ต่อไปธปท.และธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับปรุงพัฒนาให้เข้าแพตฟอร์มเดียวกันเพื่อความสะดวกและง่ายกับผู้ใช้บริการ”ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าว
ขณะนี้ธปท.ขยายขอบเขตการทดสอบให้บริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแก่ลูกค้าที่ขอใช้บริการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เปิดบัญชีกองทุน ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย และขอข้อมูลเครดิตจาก NCB โดยในระยะแรกมีบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันภัย และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ พร้อมทดสอบให้บริการรวม 17 แห่ง โดย ธปท. จะมีการประเมินผลการให้บริการอย่างใกล้ชิด และหารือร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน คปภ. และ สพธอ. เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ให้บริการก่อนเปิดให้ใช้บริการในวงกว้างต่อไป
ในการใช้บริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานนั้น ลูกค้าที่จะใช้บริการต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่ให้บริการ มีโมบายแอปพลิเคชันของธนาคารดังกล่าว และได้มีการปรับปรุงข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับธนาคารให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งมีการยืนยันตัวตนผ่านการถ่ายรูปใบหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดขั้นตอนการใช้บริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารและผู้ให้บริการที่ร่วมการทดสอบ หรือทางเว็บไซต์ http://www.ndid.co.th/publication.html
สำหรับแพลตฟอร์ม NDID เป็นโครงสร้างพื้นฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อมูล โดยในระยะแรกเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของลูกค้าระหว่างกันผ่านช่องทางดิจิทัล โดยลูกค้าที่ใช้บริการต้องให้ความยินยอมในการใช้บริการ ซึ่งแพลตฟอร์ม NDID มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำธุรกรรมหรือสมัครใช้บริการต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งบริการทางการเงิน และบริการของภาคธุรกิจและภาครัฐสามารถดำเนินการข้ามหน่วยงานด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น สำหรับธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่เข้าร่วมทดสอบ จะให้บริการตามช่วงเวลาและช่องทางของแต่ละผู้ให้บริการ ทั้งนี้ ธปท. ส่งเสริมให้ขยายการใช้งานไปสู่บริการทางการเงินอื่น และในภาคอุตสาหกรรมอื่น เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจต่อไป
รายชื่อผู้ให้บริการ 17 แห่งที่ใช้การยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม NDID
1.บริการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีกองทุน
1) บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด
เว็บไซต์ (www.globlex.co.th) 24 ชั่วโมง
2) บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)
เว็บไซต์ (www.aira.co.th) 24 ชั่วโมง
3) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เว็บไซต์ (www.kasikornsecurities.com) 24 ชั่วโมง
4) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)
เว็บไซต์ (www.thanachartsec.com) 24 ชั่วโมง
5) บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เว็บไซต์ (www.ktbst.co.th) 24 ชั่วโมง
6) บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เว็บไซต์ (www.dbsvitrade.com)24 ชั่วโมง
7) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เว็บไซต์ (www.uobam.co.th) 24 ชั่วโมง
8) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด เว็บไซต์ (www.lhfund.co.th) 24 ชั่วโมง
9) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด เว็บไซต์ (www.talisam.co.th) 24 ชั่วโมง
10) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เว็บไซต์ (www.scbam.com) 24 ชั่วโมง
2. บริการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย
11) บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เว็บไซต์ (www.bangkoklife.com) 24 ชั่วโมง
3. บริการสินเชื่อ
12) บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด โมบายแอปพลิเคชัน (UChoose) 08.00-22.30 น.
13) บริษัท เทสโก้ โลตัส มันนี่ เซอร์วิสเซส จำกัด โมบายแอปพลิเคชัน (UChoose) 08.00-22.30 น.
14) บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
โมบายแอปพลิเคชัน (UChoose) 08.00-22.30 น.
15) บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
โมบายแอปพลิเคชัน (UChoose) 08.00-22.30 น.
16) บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โมบายแอปพลิเคชัน (TLT Simply) 01.00-23.00 น.
17) บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด โมบายแอปพลิเคชัน (J Money) 08.00-18.00 น.