ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) แจ้งงวด 9 เดือนปีนี้มีรายได้รวม 346.78 ล้านบาท กำไรสุทธิ 23.90 ล้านบาท ลดลง 0.85% จากต้นทุนวัตถุดิบลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน กดดันราคาขายปรับตัวลดลง ผู้บริหารเผยดีมานด์การใช้ถุงพลาสติกฟื้นตัวหลังยอดความต้องการใช้เพิ่มขึ้นกว่า 10-15% จากช่วงโควิด-19 พร้อมเดินเกมรุกหลังติดตั้งเครื่องจักรผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ บรรจุอาหาร ครบ 4 เครื่องแล้วเสร็จ เร่งไลน์ผลิตปีหน้าแตะ 12 ล้านกล่องต่อปี ดันรายได้ในอนาคตเพิ่ม
นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน งวด 9 เดือนแรกของปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 346.78 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 23.90 ล้านบาท ลดลง 0.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 24.11 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 121.364 ล้านบาท กำไรสุทธิ อยู่ที่ 8.33 ล้านบาท ลดลง 6.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 8.88 ล้านบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบเฉลี่ย (เม็ดพลาสติก) ปรับตัวลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยปรับตัวลดลงไปด้วย เพราะการกำหนดราคาขายจะอิงกับราคาวัตถุดิบในการผลิต แม้ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหารและถุงหูหิ้ว พร้อมทั้งฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ยังคงมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องก็ตาม
กรรมการผู้จัดการ TPLAS ยังได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้มีการกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อเนื่องไปในปี 2564 แล้ว โดยยังคงเดินหน้าขยายไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุอาหาร ภายใต้ตราสินค้า “B-LEAF” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรครบทั้ง 4 เครื่อง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ภายหลังการติดตั้งแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ในปี 2564 บริษัทฯ จะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นในเชิงพาณิชย์เป็น 12 ล้านใบต่อปี จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตอยู่ที่ 6 ล้านใบต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการวางกลยุทธ์ในการเพิ่มไลน์ผลิตใหม่ไปยังบรรจุภัณฑ์กระดาษ ประเภทจาน ถ้วย รวมถึงบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มเบเกอรี เพื่อสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งไลน์การผลิตบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มมีการชัดเจน และผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 ดังนั้น จากโอกาสในการขยายลงทุนในข้างต้นจะส่งผลให้ภาพรวมผลการดำเนินงานเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
นายอภิรัตน์ ธีระรุจินนท์ รองกรรมการผู้จัดการ TPLAS กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์รูปแบบกล่อง
บรรจุอาหาร และบรรจุภัณฑ์พลาสติกรูปแบบถุงอาหารในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังคงเติบโตจากดีมานด์ความต้องการใช้ของผู้บริโภคจากกลุ่มลูกค้า เช่น ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพิ่มขึ้นกว่า 10-15% เมื่อเทียบเปรียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานบริษัทฯ ในปีนี้ มองว่ายังคงสามารถเติบโตได้ โดยเฉลี่ย 15% ซึ่งสัดส่วนรายได้หลักยังคงมาจากจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ประมาณ 95% และในส่วนกล่องกระดาษบรรจุอาหารประมาณ 5% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์แบบเชิงรุก โดยการเพิ่มไลน์ผลิตในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ ในอนาคต