การค้นหาที่อยู่อาศัยให้ตรงกับความต้องการเป็นหัวใจในกระบวนการ “มีบ้านของตัวเอง” ที่ต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อ ผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ที่เลือกสร้างบ้านหลังใหม่ตามแบบฉบับตัวเอง นอกเหนือไปจากความจำเป็นหรือความต้องการที่แตกต่างไปในแต่ละคนที่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ค้นหาหรือเลือกที่อยู่ที่ตอบโจทย์ของแต่ละคน มีปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญอีกมากที่ไม่ควรมองข้ามและมีอิทธิพลต่อการเลือกที่อยู่อาศัยแตกต่างกันมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุหรือไลฟ์สไตล์ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทั้งในด้านสถานะทางการเงิน อาชีพหรือหน้าที่การงาน ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดอสังหาฯ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เกี่ยวกับความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มอายุเมื่อมองหาที่อยู่อาศัยให้ตัวเองหรือครอบครัว ซึ่งพบว่า
กลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 22-29 ปี ชีวิตหลังเรียนจบเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นบทบาทใหม่ของชีวิตในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบทบาทจากนักศึกษามาเป็นคนทำงานเริ่มต้นก้าวสู่โลกที่ต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างเต็มที่ คนรุ่นใหม่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น การวางแผนด้านอสังหาฯ จึงเป็นเรื่องที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเลือกอยู่กับครอบครัวไปก่อน หรือออกมาเช่าคอนโดฯ ใช้ชีวิตส่วนตัวก่อนวางแผนซื้อเองในอนาคตเมื่อมีความพร้อมด้านการเงิน นอกเหนือไปจากการมองหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ได้อย่างครบครันในที่พัก รวมถึงการเดินทางทั้งไปทำงานหรือสังสรรค์แล้ว พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรกลุ่มนี้ต้องการซื้อบ้าน คือ ความต้องการพื้นที่ส่วนตัว (62%) ตามมาด้วยต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง (37%) และพื้นที่เพิ่มสำหรับลูก พ่อแม่ (29%)
กลุ่มวัยทำงาน อายุ 30-39 ปี เป็นช่วงที่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน หลายคนเข้าสู่ช่วงสร้างครอบครัว ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางการเงินผ่านการวางแผนออมเงินหรือศึกษาการลงทุนรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีความพร้อมในการซื้ออสังหาฯ เป็นของตัวเองเพื่ออยู่อาศัยและรองรับการขยายครอบครัวในอนาคต กลุ่มวัยทำงานมากกว่าครึ่ง (56%) มีมุมมองด้านการซื้อบ้านใหม่ที่ยังคงเน้นเรื่องพื้นที่ส่วนตัวมาเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถัดมาเป็นการให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านเพื่อรองรับการขยายครอบครัวมาเป็นอันดับ 2 (34%) และเพื่อความสะดวกที่มากขึ้น เช่น อยู่ใกล้ที่ทำงาน/โรงเรียน (28%)
ช่วงอายุ 40-49 ปี เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หลายคนมีบทบาทเป็นผู้ปกครองที่มีการดูแลรับผิดชอบสมาชิกในบ้าน ทำให้ต้องมีการวางแผนการเงินและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้เป็นไปตามแผนการเงินที่วางไว้ นอกจากนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมีการวางแผนเก็บเงินสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือนำเงินเก็บไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเลือกซื้ออสังหาฯ เพื่อนำไปลงทุนปล่อยเช่าไว้เป็นรายได้เสริมอีกหนึ่งช่องทางนอกเหนือจากรายรับประจำอีกด้วย เหตุผลหลักๆ ในการตัดสินใจซื้อบ้านใหม่ของคนวัยนี้ (40%) ยังคงเน้นที่การเพิ่มพื้นที่ส่วนตัว และการเพิ่มพื้นที่ให้ลูกและพ่อแม่ (30%) ในขณะที่การซื้อเพื่อลงทุนก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน (24%)
กลุ่มวัยใกล้เกษียณ อายุ 50-59 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่จริงจังกับการวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับชีวิตหลังเกษียณมากขึ้น หลายคนให้ความสนใจทำประกันเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพในอนาคต กลุ่มวัยใกล้เกษียณและกลุ่มผู้สูงอายุจะมองหาบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่สวนในบริเวณบ้านให้ได้เดินออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ในยามว่าง พร้อมมองหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบให้รองรับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยของผู้สูงวัย เช่น พื้นป้องกันการลื่น ราวจับตามจุดต่างๆ ในบ้าน หรือเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับสรีระ พักผ่อนสบายและลุกนั่งได้สะดวก ผู้บริโภค 2 กลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการใช้เวลาพักผ่อนกับสิ่งที่สนใจในบ้านมากกว่าการเดินทางออกไปสังสรรค์ข้างนอก เมื่อต้องการซื้อบ้านหลังใหม่กลุ่มวัยใกล้เกษียณและกลุ่มผู้สูงอายุจะมีความต้องการคล้ายคลึงกันคือ ความต้องการพื้นที่ส่วนตัวเพิ่มขึ้นเป็นอันดับแรก (34% และ 44% ตามลำดับ) ตามมาด้วยการตัดสินใจซื้อเมื่อรู้สึกอยากย้ายไปทำเลใหม่ (27% และ 28% ตามลำดับ) ในขณะที่เหตุผลอันดับรองลงมาของกลุ่มวัยใกล้เกษียณ คือ ต้องการเพิ่มพื้นที่สำหรับคนในครอบครัว (26%) ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุจะมองไปที่การซื้อเพื่อลงทุนมากกว่า (20%) แม้ไลฟ์สไตล์จะแตกต่าง แต่การวางแผนอนาคตที่ชัดเจนคือหัวใจสำคัญของการมีบ้าน
แม้ผู้บริโภคแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่จะละเลยไม่ได้คือ การวางแผนอนาคตกับคนในครอบครัวที่ชัดเจนพร้อมพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัยที่ตรงใจและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตมากที่สุด เพราะบ้านเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย และมีความหมายกับทุกคนในครอบครัว ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ขอแนะนำแนวทางในการพิจารณาความต้องการก่อนวางแผนเลือกซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่อยากเป็นเจ้าของอสังหาฯ ในอนาคตได้นำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
ตั้งเป้าหมายในการเลือกที่อยู่อาศัยให้ชัดเจนเพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ เพราะการเลือกที่อยู่อาศัยส่งผลต่อการเงินโดยตรงเนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ตามมา ผู้บริโภคควรประเมินความต้องการของตัวเองเป็นอันดับแรกว่าจะเลือกซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยรูปแบบใด ก่อนที่จะพิจารณาโครงการบ้าน/คอนโดฯ ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะเช่าเป็นระยะเวลาเท่าไรหรือในอนาคตจะมีการย้ายไปยังทำเลที่เจริญขึ้นหรือไม่ เมื่อมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในเบื้องต้นแล้วจะทำให้เริ่มวางแผนการเงินเพื่อจัดสรรค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมรอบคอบยิ่งขึ้น แนะนำให้มีแผนสำรองที่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต
ประเมินความมั่นคงในหน้าที่การงาน ที่ส่งผลโดยตรงต่อการวางแผนการเงิน เพราะถือเป็นแหล่งรายได้หลักและมีผลต่อการเลือกซื้อบ้าน/คอนโดฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ผู้บริโภคควรประเมินความมั่นคงในหน้าที่การงานรวมถึงโอกาสเติบโตในสายอาชีพนั้นๆ หรือหากมีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานในอนาคตอันใกล้ก็ควรรอให้อยู่ตัวมั่นคงก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ เนื่องจากสินเชื่ออสังหาฯ มีระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาวนาน หากมีการเปลี่ยนแปลงงาน/อาชีพจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาดต่างๆ หรือสภาพเศรษฐกิจในอนาคต ย่อมส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพในการผ่อนชำระสินเชื่ออสังหาฯ ซึ่งสามารถกลายเป็นภาระหนี้ก้อนโตได้
ต้องรองรับไลฟ์สไตล์ครอบครัวในอนาคต รูปแบบการอยู่อาศัย/สถานะความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นอีกปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกที่อยู่อาศัยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้แผนเลือกที่อยู่อาศัยที่เคยตั้งไว้เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานภาพสมรส คนโสดที่อยู่คนเดียวหรือคนโสดอยู่กับพ่อแม่ คู่แต่งงาน พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เมื่อมีคนหลายช่วงวัยที่ไลฟ์สไตล์แตกต่างมาอยู่รวมกันแน่นอนว่ามีความต้องการที่หลากหลายตามไปด้วย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าบ้านหรือคอนโดฯ ควรพูดคุย สอบถามความคิดเห็นและพิจารณาปัจจัยต่างๆ ร่วมกันกับคนในครอบครัวก่อน เพื่อเลือกบ้านที่ใช่ให้ตอบโจทย์ของทุกคนได้มากที่สุด เช่น การเลือกบ้านที่รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ คู่แต่งงานที่วางแผนมีลูกอาจเลือกบ้านเดี่ยวเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เด็กๆ ในอนาคต หรือคนโสดจะมองหาคอนโดฯ ที่มีความปลอดภัย และเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า