การเคหะฯ เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลที่อยู่อาศัยฯ เผยความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างจัดเก็บข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเข้าระบบ คาดปี 64 แล้วเสร็จก่อนส่งมอบ GDBI วิเคราะห์ข้อมูล เล็งเปิดให้ใช้ปี 65 ระบุปัญหาจัดเก็บข้อมูลบางหน่วยงานยังกั๊กข้อมูลองค์กรตนเอง
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 21 มี.ค.61 เห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) โดยมอบหมายให้ กคช.เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการรวบรวมและจัดหาข้อมูลเพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เพื่อรวบรวมข้อมูลดีมานด์ และซัปพลายข้อมูลการพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลที่อยู่อาศัยในภาพรวมของประเทศ และเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศในหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนในระดับท้องถิ่น และในระดับประเทศ ตลอดจนวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อยู่อาศัยเพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศ
ทั้งนี้ การจัดตั้งข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 บูรณาการข้อมูลและเชื่อมโยงระบบ คือ พม.โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นศูนย์กลางในการวางระบบและนำข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยเผยแพร่ และ กคช. เป็นผู้รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดย พม.ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 รวมทั้งมีการพัฒนาเว็บไซต์ http //www.nhicm Society.go.th เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น
ระยะที่ 2 พัฒนาระบบและขยายโครงข่าย และระยะที่ 3 พัฒนาเต็มรูปแบบเพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบสามารถวิเคราะห์และเก็บข้อมูลในรูปแบบ Big Data ได้ และจากการดำเนินงานที่ผ่านมา การเคหะฯ ได้รวบรวมข้อมูลจัดหมวดหมู่เชื่อมโยง (Link) ข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ และนำเข้าข้อมูลในส่วนของการเคหะฯ ใน 11 หมวด ในการพัฒนาเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ
โดยปัจจุบัน การดำเนินการอยู่ในขั้นตอนของการจัดเก็บข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และนำเข้าระบบ ทั้งข้อมูลด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผังเมือง ดีมานด์ความต้องการที่อยู่อาศัยในทุกระดับ ข้อมูลประชากร อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวถือว่าล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ตั้งแต่ช่วงการตั้งศูนย์ข้อมูลฯ เนื่องจากระบบข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกันของรูปแบบการจัดเก็บ เช่น ข้อมูลเดียวกันแต่ใช้ชื่อต่างกัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงให้มีรูปแบบเดียวกันค่อนข้างมาก
ปัญหาในการจัดเก็บข้อมูลและนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ คือ การไม่ย่อมเปิดข้อมูลของบางหน่วยงาน หรือกั๊กข้อมูลของหน่วยงานตัวเองไว้ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการดำเนินการทั้งหมดในขั้นตอนนำเข้าข้อมูลในระบบจะสามารถแล้วเสร็จได้ในปี 64 ซึ่งขั้นตอนต่อไปสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI) จะเข้ามาทำกน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูล และคาดว่าในปี 65 จะเปิดให้บริการข้อมูลแก่สาธารณชนได้ทั้งหมด