ประเมินสถานการณ์การชุมนุม “คณะราษฎร 2563” ต่อตลาดหุ้นไทย ภาพรวมระยะเริ่มต้นหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะฉุดความเชื่อมั่นดิ่ง แต่หากยืดเยื้อจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยรวมทั้งปีเต็มที่ดัชนีแตะ 1,300 จุด ส่วนกลุ่มท่องเที่ยว และศูนย์การค้าอ่วมที่สุด ด้านกูรูแนะหาจังหวะทยอยเข้าเก็บหุ้นพื้นฐานดีราคาต่ำ หวังวัคซีน COVID-19 มีข่าวดีในช่วงปลายปี หลังม็อบซ้ำเติมภาคธุรกิจจนโงหัวไม่ขึ้น
ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากปัจจัยลบที่ถูกกดดันจากสถานการณ์ในต่างประเทศ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว สถานการณ์การเมืองในประเทศที่เกิดการชุมนุมของกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ถูกยกว่าเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนและเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาลงมากขึ้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มสร้างความกังวลให้แก่หลายภาคอุตสาหกรรม เพราะหากการชุมนุมยืดเยื้อเหมือนในอดีต อาจส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนมีการเรียกร้องให้ภาครัฐหาทางออกในเรื่องนี้โดยเร็ว ด้วยเพราะสถานการณ์ในปัจจุบันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งขณะนี้หลายประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดรอบสอง ทำให้เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวทางภาคธุรกิจออกมาเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากปล่อยให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ดูแย่ลงไปอีก
ขณะที่ภาคตลาดทุน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวมีให้เห็นบ่อยครั้งมาตั้งแต่ปี 2549 และเพิ่งเงียบหายไปในช่วงปี 2557 จากการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งนำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จนมาเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีนี้
และจากสถิติการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีผลกดดันให้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นจังหวะที่ดีสำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่มองเห็นเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีในราคาที่ถูก เพื่อรอราคาหุ้นปรับตัวขึ้นภายหลังสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันต่อระบบเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ทำให้ทิศทางในการเข้าสะสมหุ้นเพื่อลงทุนจากจังหวะเกิดความวุ่นวายจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศรอบนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดของบทสรุป ทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อการพิจารณาเข้าลงทุนในช่วงจังหวะนี้ด้วยเช่นกัน นั่นเพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดของกลุ่มนักลงทุน เพราะความผันผวนของตลาดล้วนเกิดจากความคิดและการตัดสินใจของนักลงทุน ดังนั้น หากนักลงทุนมีความเชื่อมั่น มีเหตุผล ตลาดจะเคลื่อนตัวในทางบวกมากกว่าลบ แต่ในทางกลับกัน หากนักลงทุนมีความกังวล หรือใช้อารมณ์ความรู้สึกในการลงทุน ตลาดจะผันผวนในทางลบได้มาก
“ศราวุธ เตโชชวลิต” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์เอชบี (ประเทศไทย) แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเผชิญต่อแรงกดดันทางการเมืองในประเทศ ในเรื่องการชุมนุมที่มีลักษณะดาวกระจายและอาจจะมีความยืดเยื้อ หลังยังไม่มีการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและรัฐบาล โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยจากต่างประเทศก็ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ และความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่จนทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์หลายเมืองในยุโรป
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุน และบางส่วนขายทำกำไรลดความเสี่ยงรอดูพัฒนาการของปัจจัยต่างๆ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมถึงยังรอดูการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกรณีของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยหากผลประกอบการของกลุ่มธนาคารออกมาไม่แย่กว่าคาดดัชนีก็อาจจะรีบาวนด์ขึ้นได้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังต้องจับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิดด้วย
“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ จำกัด แสดงความเห็นว่า จากการรวบรวมประมาณการผลประกอบการของตลาดโดยรวมจาก Bloomberg Consensus ของหุ้นจำนวน 111 บริษัท คิดเป็น 71% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค.) นักวิเคราะห์คาดว่า ไตรมาส 3/63 บริษัทจดทะเบียนไทยจะมีกำไรสุทธิรวม 9.56 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัวแค่ 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังหดตัวแรง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะถูกถ่วงด้วยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สายการบิน และสนามบิน ที่ยังมีผลขาดทุนอยู่ ขณะที่หุ้นธุรกิจโรงกลั่นคาดจะมีผลขาดทุนเช่นกัน จากอัตราค่าการกลั่นที่ต่ำมาก ดังนั้น การประกาศผลประกอบการไตรมาสนี้จึงไม่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้มากนัก
ส่วนการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ (Special Tourist VISA : STV) กลุ่มแรกจากจีนประมาณ 120 คน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ แม้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวไทย แต่คงไม่สามารถคาดหวังผลเชิงบวกต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มดังกล่าวประเมินว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 คนต่อเดือน และจะสร้างรายได้ให้ประเทศราว 1,200 ล้านบาทต่อเดือน เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อน COVID-19 อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคนต่อเดือน และสร้างรายได้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาทต่อเดือน หรือยังไม่ถึง 1% ทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนรายได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดตามมาด้วย
โดยเฉพาะหากเริ่มต้นเปิดรับนักท่องเที่ยว STV กลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ที่รัฐบาลมีแนวทางจะลดการกักตัวลงเหลือ 7 วัน จนถึงไม่ต้องมีการกักตัวเลยตามลำดับ ดังนั้น ในช่วงแรกๆ หากมีข่าวการติดเชื้อเกิดขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นในตลาดผันผวนได้ง่าย และน่าจะใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่านักลงทุนจะเริ่มคุ้นชินกับข่าวดังกล่าว จึงอยากให้นักลงทุนเตรียมใจเผื่อไว้สำหรับความผันผวนในอนาคตด้วย
สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้น ล่าสุด นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อคุมการชุมนุม คาดว่าจะกดดันกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออกต่อเนื่อง อิงจากการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้งในอดีตดัชนีหุ้นไทย จะปรับตัวลงเฉลี่ย 2% ในช่วง 3 วันทำการ และต่างชาติมักเป็นผู้ขายสุทธิเฉลี่ยประมาณ 4 พันล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว แต่หลังจากนั้น ดัชนีหุ้นไทยจะเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ต่อมา โดยจะเคลื่อนไหวตามสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและปัจจัยอื่นที่เข้ามามีผลกระทบ ทำให้ในทางเทคนิค ดัชนีหุ้นไทยยังอยู่ในแนวโน้มแกว่งไซด์เวย์ดาวน์ จนกว่าจะสามารถขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,300 จุดเท่านั้น ตลาดหุ้นไทยจึงจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นแนวทางอื่น
ดังนั้น บล.ทิสโก้ ยังคงกลยุทธ์หลัก คือ แนะนำหาจังหวะทยอยสะสมช่วงตลาดอ่อนตัว แต่ไม่ต้องรีบร้อน เนื่องจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักยังคงกดดันตลาดอยู่ เช่น สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคาราคาซัง ทั้งการชุมนุมทางการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มหุ้นที่แนะนำสะสม "เพื่อการลงทุน" หวังผลในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า คือหุ้นที่แนวโน้มกำไรปีหน้าฟื้นตัวโดดเด่น ราคาหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นมากกว่า 20% จากมูลค่าเหมาะสมทางปัจจัยพื้นฐาน แนะนำ AEONTS, BAM, BDMS, BEM, CPALL, MTC, PTTGC, TWPC และ WHA และแนะทยอยเก็บหุ้นปันผลที่คาดมีอัตราเงินปันผลมากกว่า 4% ต่อปี แนะนำ DCC, EASTW, INTUCH, LH, QH, NYT, PROSPECT, RATCH และ TVO
ส่วนหุ้นที่เหมาะแก่การ Trading หรือ "เก็งกำไรกำไรระยะสั้น" แนะนำหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดีทั้ง YoY, QoQ คือ AP, MTC, RBF, SAPPE, SYNEX และ TU รวมถึงหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวในระยะสั้น จาก "ช้อปดีมีคืน" คือ COM7, CRC และ HMPRO และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น คือ KSL และTVO
และจากมุมมองดังกล่าว สอดคล้องต่อความเห็นของ บล.กรุงศรี ซึ่งพบว่า ตลาดหุ้นไทย SET เป็นหนึ่งในตลาดที่ช้าที่สุดในโลก นับตั้งแต่การเริ่มต้นความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย โดยดัชนี SET INDEX มีผลตอบแทนน้อยกว่า MSCI Asia ex-Japan ราว 15% ซึ่งมากกว่าเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง 4 ครั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าความแตกต่างระหว่างหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกไม่สามารถต่างไปได้นานกว่านี้แล้ว ดังนั้น แนะนำนักลงทุนให้พิจารณาสถานการณ์นี้เป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้น จากเหตุการณ์ทางการเมืองได้เปิดเผยออกมา
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 จะช่วยหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก จากการที่ผู้พัฒนาวัคซีนหลายรายกำลังเข้าสู่การพัฒนาระยะที่ 3 ทำให้คาดว่าจะมีข่าวความคืบหน้ามากขึ้นในตลาดในช่วงปลายตุลาคม และจะเป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
นอกจากนี้ มองว่ากลุ่มหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดในช่วงที่ผ่านมาจะให้ผลตอบแทนโดดเด่น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มวัฏจักรได้มีผลตอบแทนที่น้อยกว่าตลาดนับตั้งแต่การปิดเมืองจากการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากค่า P/E ของหุ้นเหล่านี้อาจดูไม่น่าดึงดูดนักเนื่องจากการฟื้นตัวเพียงบางส่วนในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ค่า P/BV ดูน่าดึงดูดในหุ้นหลายกลุ่มหลัก จึงแนะนำเข้าสะสมหุ้นวัฏจักรที่ตามหลังตลาด เช่น BDMS, BH, IVL และ PTTGC เพราะจะไดรับประโยชน์หากมีความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน
ด้าน บล.เคทีบี ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบจากประเด็นข้างต้น โดยได้ทำการประเมินผลกระทบเป็น 2 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 หากการชุมนุมยืดเยื้อ เราประเมินว่าหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากสุด ได้แก่ 1) ห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุม : CRC (ห้างเซ็นทรัลชิดลม, ห้างเซ็นทรัล, Supersport และ Powerbuy ใน Central World), BJC (Big C ราชดำริ), CPN (Central World สัดส่วนรายได้ 14%), HMPRO (Home Pro เพลินจิต) ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการลดลงหรืออาจมีความจำเป็นต้องปิดห้าง 2) Tourism : ERW (Grand Hyatt Erawan Hotel), CENTEL (Centara Grand at CentralWorld Hotel), MINT (Anantara Siam Hotel) กระทบต่อผู้ใช้บริการลดลง 3) Commerce : ร้านค้าปลีกในห้างส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากมีสาขาจำนวนมาก ผู้ใช้บริการสามารถไปใช้บริการสาขาอื่นได้ เช่น MC (มี 2 สาขาใน Central World และ 1 สาขาใน Big C ราชดำริ), BEAUTY (มีสาขาที่ Central World และ Big C ราชดำริ), COM7 (มีสาขาที่ Central World), JMART (มีสาขาที่ Central World) และ CPW (มีสาขาที่ Central World)
นอกจากนี้ กรณีที่ 2 สถานการณ์การชุมนุมบานปลาย เกิดการปะทะจนไม่สามารถควบคุมได้และทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน จะทำให้มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คาดว่าหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ 1) Construction Services : คาดหุ้นกลุ่มรับเหมา เช่น STEC, CK, PYLON, SEAFCO จะได้รับ sentiment เชิงลบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง 2) IE : AMATA, WHA อาจทำให้นโยบายเปิดประเทศให้นักลงทุนเลื่อนออกไป และนักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน 3) Media : PLANB (มีรายได้จากสื่อ OOH 64% ของรายได้ทั้งหมด โดยสื่อ OOH ส่วนใหญ่ของ PLANB อยู่ในกรุงเทพฯ), VGI (มีรายได้จากสื่อ Transit 53% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งสื่อ Transit ของ VGI อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด) โดยคาดว่าเม็ดเงินโฆษณากลุ่มสื่อนอกบ้านจะปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคลดการออกจากบ้าน
ส่วน บล.เอเซียพลัส จำกัด ระบุ จากสถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงขึ้น หลังการชุมนุมที่ต่อเนื่อง และปัจจุบันสถานการณ์ได้เดินทางมาถึงจุดที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงทำฝ่ายวิจัยได้ค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลตลาดหุ้นในอดีต พบว่าหลังจากรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินใน 4 ครั้ง ที่ผ่านมา เริ่มจาก พ.ค.2535 (พฤษภาทมิฬ) ตามมาด้วย ก.ย.2549 (ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร), พ.ค. 2553 (ชุมนุมกลุ่ม นปช.) และ ม.ค.2557 (ชุมนุมกลุ่ม กปปส.) นั้นหลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน SET Index จะผันผวนหนักก่อนในระยะสั้น แต่จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยมีรายละเอียดดังนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์แรก หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน SET Index มีโอกาสผันผวนหนัก และแกว่งตัวตั้งแต่ -7.35% ถึง +11.17%
นั่นหมายถึง ในช่วง 1 เดือน 2 เดือน และ 3 เดือน หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน SET Index ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยบวก 4.07% (1 เดือนให้หลัง), 5.69% (2 เดือนให้หลัง) และ 8.21%
ทำให้กลยุทธ์การลงทุน แนะนำแบ่งสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) และเลือกลงทุน (Selective Stocks) ดังนี้ 1.แนะนำถือเงินสด 25% ของพอร์ตการลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมี และมักจะกดดันให้ SET Index ผันผวนเสมอ 2.ลงทุนในหุ้น 75% ของพอร์ตการลงทุน โดยแบ่งกลุ่มหุ้นที่จะลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เลือกลงทุนหุ้นกลางเล็กปันผลสูง และทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่อยู่ในกลุ่มที่มักฟื้นตัวได้ดีหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเมือง