xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.คาดไตรมาส 2/64 สรุปแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก่อนเสนอคลัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
สำนักงาน ก.ล.ต. คาดไตรมาส 2 ปี 64 สรุปแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หวังสอดคล้องกับยุคสมัย และดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ก่อนชงกระทรวงคลังพิจารณา พร้อมเตรียมใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ส่งบอร์ดอิสระคุมสำนักสอบบัญชีในปี 66

นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จะได้ข้อสรุปการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณา ภายในไตรมาส 2/64 โดยจุดประสงค์หลักเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัย และสามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์นั้น หลังจากส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ขั้นตอนต่อไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นอกจากนี้ ในปี 2566 จะนำมาตรฐานการควบคุมสำนักงานสอบบัญชีใหม่มาบังคับใช้ โดยจะเป็นมาตรฐาน ISQM1 ซึ่งกำหนดให้สำนักงานสอบบัญชี จำเป็นต้องมีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คน เพื่อช่วยคัดกรองการรับงานของสำนักสอบบัญชี

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. จะผลักดันให้สำนักสอบบัญชีใช้ระบบดิจิทัล (Data Analatic) ในการตรวจสบบัญชีมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากในยุคปัจจุบันข้อมูลบัญชีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ประกอบกับธุรกิจในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น

"ระบบควบคุณคุณภาพของสำนักสอบบัญชี ยังมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน เนื่องจากพอร์ตโฟลิโอการรับงาน และพนักงานของสำนักสอบบัญชี มีการปรับเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การควบคุมคุณภาพจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันด้วยเช่นกัน" นายธวัชชัย กล่าว

สำหรับการแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ลงนาม MOU กับสำนักงานคดีแพ่ง เพื่อเตรียมปรับปรุงแก้ไข กฎหมายพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 7 (พ.ร.บ.ฉบับใหม่) โดยหนึ่งในการแก้ไขจะมีประเด็นให้อำนาจเจ้าพนักงาน ก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์ รวมถึง พ.ร.บ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วยตัวเองได้ จากเดิมที่ ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจะทำหน้าที่เพียงรวบรวมส่งข้อมูลให้แก่อัยการเป็นผู้ทำสำนวนส่งฟ้อง โดยคดีที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนวนคดีที่มีมูลค่าเสียหายต่ำกว่า 100 ล้านบาท จะส่งให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) 

สำหรับกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับที่ 7 ก.ล.ต.จะรวบรวมประเด็นและขออนุมัติจากบอร์ดแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 64 คาดว่าจะส่งให้กระทรวงการคลัง เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้ร่วมมือกับสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง เพื่อร่นระยะเวลาลงโทษผู้กระทำผิดให้เร็วมากขึ้น ทั้งการร่วมมือจัดเตรียมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ของการฟ้องคดีและการยื่นคำร้องต่อศาล และแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในการดำเนินคดี กฎหมาย และการกระทำความผิดในตลาดทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น