xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.จับมือสำนักงานคดีแพ่ง เพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานคดีแพ่ง) ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดในตลาดทุน รวมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการ บุคลากร และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญต่อกระบวนการดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมถึงยับยั้งและป้องปรามการกระทำผิดในตลาดทุน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดทุน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้จะช่วยให้ ก.ล.ต. และสำนักงานคดีแพ่ง ร่วมมือในการจัดเตรียมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการฟ้องคดีและการยื่นคำร้องต่อศาล ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจด้านการดำเนินคดี กฎหมาย และการกระทำความผิดในตลาดทุนระหว่างกัน เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายกฤษฎา วิชพันธุ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้มีการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดแทนมาตรการลงโทษทางอาญาได้ในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมีข้อเท็จจริงยุ่งยากสลับซับซ้อน

ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงานคดีแพ่งจึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงนี้ขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด สร้างความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานทั้งสอง รวมทั้งให้ความร่วมมือกันในทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในตลาดทุนและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนในตลาดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการตามที่ตกลงกันในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ สอดคล้องต่อภารกิจของ ก.ล.ต. ที่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อบุคคลที่กระทำความผิด ซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง และยังสอดคล้องต่อภารกิจของสำนักงานคดีแพ่งที่ดำเนินคดีแพ่งทั้งปวงแทนหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น