xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมนิติ-กรุงไทยชวนธุรกิจใช้ e-Withholding Tax-ชูลดต้นทุน-เพิ่มศักยภาพระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธรรมนิติ-กรุงไทยชวนธุรกิจใช้ระบบ e-Withholding Tax มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ช่วยลดต้นทุน-เสริมสภาพคล่อง-เพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจในระยะยาว ชูแพลตฟอร์ม “Krungthai e-Withholding Tax”ของธนาคารกรุงไทย ระบุคล่องตัว พัฒนาระบบดิจิทัล และอัพเดตข้อมูลต่อเนื่องต่อเนื่อง

นางสาวกิตติยา อาภากุลอนุ กรรมการจัดการคนที่ 5 บริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน)กล่าวถึงกรณีที่ภาครัฐได้ออกมาตรการด้านภาษีใหม่ โดยให้กรมสรรพากรนำระบบ “การหักภาษี ณ ที่จ่ายทาอิเล็กทรอนิกส์”หรือ“e-Withholding Tax” มาใช้ว่า ระบบดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจไทย เนื่องจากเป็นระบบที่ตอบโจทย์เรื่องภาษี ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ลดระยะเวลาการทำงาน และยังเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจด้วย ซึ่งระบบภาษี ณ ที่ จ่ายแบบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกันนั้น เพื่อจูงใจให้เปลี่ยนจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายรูปแบบเดิมที่อยู่บนเอกสารกระดาษ มาอยู่บนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรจึงได้มีมาตรการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเหลืออัตรา 2% จากเดิม 3% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เฉพาะการจ่ายผ่านระบบ e-Withholding Tax เท่านั้น


โดยการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีธนาคารทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่าง “ผู้หักภาษี” “กรมสรรพากร” และ “ผู้ถูกหักภาษี” ทั้งขั้นตอนการโอนเงินเข้าบัญชีปลายทาง พร้อมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้รอนำส่ง, นำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย และข้อมูลไปยังกรมสรรพากร, แจ้งผลการนำส่งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปยังผู้หักภาษี และผู้ถูกหักภาษี และเมื่อธนาคารทำหน้าที่เป็นตัวกลางดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้บริษัท หรือผู้ประกอบการที่เป็นผู้หักภาษีจะไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ต้องยื่นแบบและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร

ทั้งนี้ การนำธุรกิจเข้าสู่ระบบดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัว ทั้งในส่วนของระบบบัญชีภายใน โดยเฉพาะฝ่ายบัญชี-ฝ่ายการเงินที่จะต้องทราบขั้นตอนการดำเนินงานของ e-Withholding Tax รวมถึงแบบฟอร์มในการคีย์ข้อมูล และที่สำคัญ คือ การเลือกใช้บริการ e-Withholding Tax ของธนาคารใดธนาคารหนึ่ง เพราะในระบบ e-Withholding Tax การกรอกข้อมูลต่าง ๆ ยังเป็นหน้าที่ของฝ่ายบัญชีการเงินของบริษัท หรือผู้ประกอบการธุรกิจฝั่งผู้หักภาษี และผู้ถูกหักภาษีต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกที เพื่อป้องกันความผิดพลาด โดยในส่วนของบริษัทได้ใช้แพลตฟอร์ม “Krungthai e-Withholding Tax” ของธนาคารกรุงไทยในการนำระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบเดิมไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ซึ่งสร้างความสะดวกด้านภาษีให้กับทั้งผู้หักภาษี และผู้ถูกหักภาษี


"เราเป็นพันธมิตรธุรกิจกับธนาคารกรุงไทยมาหลายปีแล้ว โดยใช้ธนาคารกรุงไทยเป็น Main Bank ในการเป็นช่องทางหลักรับเงินเข้ามาและจ่ายเงินให้กับลูกค้าต่าง ๆ ของบริษัทในเครือ เนื่องจากธรรมนิติมีหลายบริษัทในเครือ แต่ละบริษัทมีลูกค้าค่อนข้างมากทำให้มีธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก ซึ่งความคล่องตัวในการใช้บริการของธนาคาร เกิดจากที่กรุงไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และอัพเดตข้อมูลต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดฝึกอบรมให้กับลูกค้า อย่างเช่น บริการ e-Withholding Tax อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารก็ได้จัดอบรมเพื่อให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกับลูกค้าของธรรมนิติด้วย"

นางสาวกิตติยากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ผู้หักภาษีจะเป็นผู้ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ก็จะได้ประโยชน์เรื่องของการลดระยะเวลาการทำงานด้านต่างๆ ทั้งลดเวลาการทำงานของนักบัญชี ลดความยุ่งยากในการทำงาน ลดค่าจัดส่งเอกสาร ลดค่าจัดเก็บเอกสาร และบริษัทไม่ต้องซื้อคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง เพื่อให้นักบัญชีทำเฉพาะเรื่องภาษีหักถาษี ณ ที่จ่ายลูกค้าแต่ละราย โดยสามารถใช้เครื่องเดียว Run ได้หมด จึงช่วยลดต้นทุนการใช้อุปกรณ์สำนักงาน ดังนั้น การเปลี่ยนมาเป็นระบบ Krungthai e-Withholding Tax จะเป็นการลดต้นทุนในระยะยาว และเป็นวิธีการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์จะเข้าสู่ระบบของธุรกิจมากขึ้น”นางสาวกิตติยากล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น