บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินดัชนีหุ้นไทยเดือน ต.ค. ทำระดับต่ำสุดในไตรมาส 4/63 หลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่นักลงทุนยังรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้คาดว่าสิ้นปี 63 ดัชนีหุ้นไทยน่าจะปิดตัวในระดับ 1,300 จุด ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 1,400 จุดในปี 64 จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีโอกาสคลี่คลายผลักดันให้เศรษฐกิจภาพรวมเริ่มฟื้นตัว
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4/63 มองว่าตลาดจะมีความผันผวนสูงขึ้น และคาดว่าเดือนต.ค.นี้ดัชนี SET จะปรับลงแตะ 1,200 จุด เป็นระดับต่ำสุดของไตรมาส 4/63 หลังจากที่ตลาดรับรู้ข่าวที่เป็นปัจจัยบวกไปค่อนข้างมากแล้ว และความหวังเรื่องวัคซีนรักษาโควิด-19 ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน ประกอบกับแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในต่างประเทศกลับมาเร่งตัวขึ้น ทำให้สถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน กดดันให้มีแรงขายหุ้นออกมา โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่ได้ปรับตัวขึ้นรับข่าวบวกของการผลิตวัคซีนออกมาก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพิจารณาลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯภายหลังการเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนจะชะลอลงทุนและลดความเสี่ยงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพื่อรอดูความชัดเจนของผลการเลือกตั้ง เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต มีนโยบายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการจัดพอร์ตของนักลงทุน
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/63 ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนของการกลับมาฟื้นตัว จากปัจจุบันที่เห็นเพียงสัญญาณทรงและซึมตัวลง แตกต่างจากช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ที่เศรษฐกิจดีดตัวขึ้น จากการอั้นของดีมานด์ในช่วงล็อกดาวน์ และหลังจากนั้นก็เริ่มซึมตัวลง สะท้อนกำลังซื้อที่ยังอ่อนแรงและยังไม่กลับมาอย่างชัดเจน
ส่วนเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นกลับมาเร็ว แม้ว่าภาครัฐจะเปิดให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเข้ามาตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค.นี้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ได้ ทำให้ยังเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อเศรษฐกิจไทยในปี 63 ติดลบ 7.8% แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังมีปัจจัยหนุนที่มาจากภาคการเกษตรที่ดีขึ้น หลังจากผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกร ช่วยหนุนกำลังซื้อกลับมาเพิ่มขึ้นได้
นายสุกิจ กล่าวว่า แม้จะมองว่าดัชนี SET ในเดือนต.ค. เป็นจุดต่ำสุดของไตรมาส 4/63 แต่ก็เป็นจังหวะที่น่าสนใจในการเข้าซื้อ เพราะมองว่าหากดัชนีลดลงมาที่ 1,200 จุด ก็เป็นระดับดัชนีที่มีความน่าสนใจในการเข้าสะสม ก่อนที่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯจะออกมาชัดเจน และมีแรงซื้อหุ้นกลับเข้ามาดันดัชนีในช่วงหลังประกาศผลการเลือกตั้งสหรัฐฯออกมา ซึ่งน่าจะผลักดันให้ดัชนี SET ปิดตัวในปีนี้ที่ระดับ 1,300 จุด
ส่วนในปี 64 คาดการณ์ว่าดัชนี SET จะอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด แต่การปรับตัวขึ้นของดัชนี SET ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยโควิด-19 โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องการผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ซึ่งคาดว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะยังไม่เห็นการดีดตัวของดัชนีมากนัก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกน่าจะคลี่คลายและมีความชัดเจนของวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมา ทำให้ตลาดคลายความกังวลลง และจะเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น
ขณะเดียวกันภาวะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อเนื่องถึงปี 66 ทำให้อาจเห็นการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น แม้ว่าภาพของเศรษฐกิจจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวกลับมาเร็ว แต่ผลตอบแทนในตลาดหุ้นถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี และหุ้นก็ยังมีราคาถูกลง ทำให้จูงใจนักลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้น
สำหรับภาพรวมของกำไรบริษัทจดทะเบียนในประเทศมองว่าจะต้องรอถึงปี 65 ถึงจะได้เริ่มเห็นกำไรของบริษัทจดทะเบียนกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยที่ในปี 63 จะเป็นปีที่กำไรบริษัทจดทะเบียนถือเป็นปีฐานที่ต่ำที่สุดและจะเริ่มค่อย ๆ กลับมาฟื้นขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่กลับมาฟี้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในปี 64 คาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) จะอยู่ที่ 75.64 บาท/หุ้น จากระดับ 57.82 บาท/หุ้นในปี 63 และจะเพิ่มขึ้นมาที่ 93.88 บาท/หุ้น ใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19