เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนักลงทุนจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ วันที่ 3 พ.ย.นี้ ชี้หลายนโยบายส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนโยบายของ Donald Trump และ Joe Biden ชูหุ้น 7 กลุ่มที่ยัง Underperform ดัชนี SET Index และมีโอกาสเป็นเป้าเข้าซื้อในช่วงการเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย หมวดอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ Banking, Property, Media, Tourism, Energy, Transport และ Healthcare
นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์ เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนักลงทุนจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ วันที่ 3 พ.ย.นี้ ถือเป็น Key Event สำคัญที่นักลงทุนต้องติดตาม ซึ่งนอกเหนือจะเป็นวันชี้ชะตาว่า Donald Trump จะสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อได้อีกวาระหรือไม่ ยังเป็นวันที่จะเกิดความชัดเจนในนโยบายที่สำคัญในหลายๆ ด้านของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า นโยบายต่างประเทศ ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งแนวทางการดำเนินนโยบายของทั้ง Donald Trump และ Joe Biden น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และมุ่งเน้นการกลับมายิ่งใหญ่ของประเทศสหรัฐฯ ภายใต้รายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน
ประเมินว่า Joe Biden มีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้ง และจะส่งผลดีในระยะสั้นแต่มีความเสี่ยงระยะยาว จากผลสำรวจล่าสุด (14 ก.ย.) แม้ว่าคะแนนระหว่าง Joe Biden และ Donald Trump จะบีบแคบเข้ามาเรื่อยๆ แต่หากเปรียบเทียบช่วงห่างระหว่างผลสำรวจปี 2020 กับ 2016 ซึ่งเป็นปีที่ Donald Trump คะแนนตามหลังแต่พลิกกลับมาชนะได้ จะเห็นว่าช่วงห่างรอบนี้มีมากกว่าปี 2016 และเป็นการนำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตั้งแต่ ม.ค. โดยไม่มีช่วงเวลาใดที่คะแนนพลิกผัน ดังนั้น จึงไม่ง่ายที่จะเกิดการพลิกโผแบบปี 2016 ซึ่งถ้าผลเป็นไปตามผลสำรวจคือ Joe Biden ชนะการเลือกตั้ง ระยะสั้นจะส่งในด้านบวกช่วยลดความตึงเครียดประเด็นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ลงได้ แต่จะส่งผลลบในระยะยาวจากนโยบายการปรับขึ้นภาษี ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจาก COVID-19 ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอาจส่งผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากการสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังอย่างรุนแรง เนื่องมาจากมาตรการด้านการคลังชั่วคราวที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตนั้นสิ้นสุดลง (Fiscal Cliff)
แต่ในทางกลับกันหาก Donald Trump พลิกกลับมาชนะจะถือเป็นด้านบวก (Positive Surprise) เนื่องจากตลาดชอบนโยบายภาษีที่เอื้อต่อบรรยากาศการลงทุน แม้ว่าประเด็นเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนอาจกลับมากดดันเป็นระยะๆ แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ และตลาดเคยชินแล้วในระดับหนึ่ง บวกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ ดังนั้น โอกาสที่ Donald Trump จะก่อสงครามการค้ารอบใหม่น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก
"คาดตลาดผันผวนสูงช่วงก่อนเลือกตั้งและปรับตัวขึ้นหลังจากนั้น จากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วง 5 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา (ปี 2000-2016) ความผันผวนของตลาดหุ้นทั้งสหรัฐฯ และไทยจะเร่งตัวขึ้นในช่วงประมาณ 1 เดือนก่อนการเลือกตั้ง และค่อยๆ ลดลงหลังการเลือกตั้งจบ สะท้อนภาวะที่ตลาดเกิดความไม่แน่นอนต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และหากพิจารณาผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย พบว่า SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7.82% และ 11.15% หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว 3 และ 6 เดือน ตามลำดับ สะท้อนภาวะตลาดที่ชอบความชัดเจน และเริ่มทยอยตอบรับเชิงบวกจากการเข้ามาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่"
นอกจากนี้ หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นว่าในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นในปี 2012 และ 2016 หุ้นที่ Underperform สามารถพลิกกลับขึ้นมา Outperform ในขณะที่ปี 2008 ที่ตลาดเป็นขาลง หุ้นกลุ่มที่ถูกขายลงมาเยอะช่วงก่อนการเลือกตั้งกลับมาฟื้นตัวนำตลาดได้หลังจากนั้น ซึ่งเราประเมินว่าภาพดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกครั้งช่วงหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯปี 2020 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปัจจุบันยังคงต้องการความต่อเนื่องและความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงความชัดเจนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและผลิตวัคซีน แต่ในทางกลับกันภาวะเศรษฐกิจที่อยู่บนความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะต่อรองราคามากกว่าไล่ราคา และมองหาหุ้นที่ราคาอยู่ในจุดที่ดึงดูด โดยหุ้นกลุ่มที่ยัง Underperform ดัชนี SET Index และมีโอกาสเป็นเป้าเข้าซื้อในช่วงการเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย 7 หมวดอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ Banking, Property, Media, Tourism, Energy, Transport และ Healthcare