ราคายางพาราดีดตัวสร้างสถิติใหม่ในรอบ 3 ปี หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อีกทั้งดีมานด์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน ผลักดันราคาหุ้นยางพาราในตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่ม รับทิศทางผลดำเนินงานครึ่งปีหลังสดใส แถมมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในปีหน้า
จากผลผลิตที่ใครต่อใครมองว่าอยู่ในช่วงขาลง หลังราคาขายปรับตัวอยู่ในระดับต่ำมาหลายปี แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะมีรายงานว่า ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ครั้งแรกในรอบ 3 ปี 2 เดือน โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราคา 60.50 บาทต่อ กก. และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนมีการสั่งซื้อเข้ามาในปริมาณมาก หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น และผู้บริโภคในจีนยังมีพฤติกรรมการหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถโดยสารสาธารณะ เป็นผลให้ล้อยางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ล่าสุด ยอดการใช้ยางพาราในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
"ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลกและประเทศจีน จนอาจมีผลทำให้โครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 2 วงเงินประมาณ 3.3 หมื่นล้าน ที่ตั้งงบไว้แล้วนั้นน่าจะนำมาใช้จริงน้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าคงยังต้องมีโครงการ เพราะที่ผ่านมา ราคายางตกต่ำ" ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แสดงความคิดเห็นต่อราคายางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน มองว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหันมาส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศและสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน
นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่าถึง 947 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.5% สวนทางภาพรวมการส่งออกยางพาราของไทยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2563 มีปริมาณ 1.33 ล้านตัน ลดลง 19.8% ขณะที่มูลค่าส่งออก 1,695 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.1% และสินค้าผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่า 5,438 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.4% ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันพบว่ามีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนที่ปริมาณยางออกน้อย ผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้น
“สถิติราคายางไทยในอดีตปี 2554 เคยขายได้สูงถึง กก.ละ 150 บาท แต่เมื่อเกษตรกรระดมปลูกยางพารามากขึ้นระดับราคาจึงทยอยปรับลดลง จึงพยายามเน้นผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มากขึ้น แม้มีออเดอร์แต่จากนี้ไทยจะไม่พึ่งพาการส่งออกมากเกินไป ดังนั้น ในช่วงที่เกิดของโควิด-19 เป็นช่วงที่ไม่มีการกรีดยางและตลาดชะลอ กยท.จึงเห็นโอกาสเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดโซนนิ่งอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นให้พื้นที่ปลูกยาง 2.7 ล้านไร่ ที่ไม่เหมาะสม นำมาบริหารจัดการลดซัปพลาย ปรับเปลี่ยนปลูกยางเป็นพืชอื่นก็จะยิ่งช่วยทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย” สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในประเทศที่ได้รับประโยชน์ เพราะแม้แต่ ผู้ประกอบการยางพาราในประเทศก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุด บล.เคทีบี (ประเทศไทย) วิเคราะห์ถึงแนวโน้มการลงทุนหุ้นบริษัทยางพาราว่า ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ราคาเป้าหมาย 41.00 บาท อิง P/E ที่ 14 เท่า และยังคงแนะนำซื้อ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) ราคาเป้าหมาย 4.10 บาท อิง P/E เฉลี่ยที่ 9 เท่า โดยเริ่มชอบหุ้นยางพารามากขึ้น จากการที่ราคายางพาราเริ่มกลับมาสูงขึ้นจากความต้องการใช้ยางของจีนที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้มีมุมมองเป็นบวกต่อข่าวดังกล่าว โดยราคายางอ้างอิงหลัก STR ปรับขึ้นมาที่ 46 บาทต่อ กก. +7% จากความต้องการใช้ยางของจีนที่มีเพิ่มขึ้น หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศ และโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมากระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มล้อยางรถยนต์ หากความต้องการยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ซึ่งอาจจะทำให้ราคายางแท่งเฉลี่ยเกินกว่าสมมติฐานทั้งปีที่ 41 บาทต่อกิโลกรัม
และถ้าราคายางแท่งครึ่งปีหลังสามารถยืนอยู่ที่ 46 บาทต่อ กก. อาจจะทำให้ราคายางแท่ง STR ปรับขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 43 บาทต่อ กก. ซึ่งจะทำให้มีโอกาสปรับประมาณการกำไรปีนี้ขึ้น โดยคาดว่าหุ้นในกลุ่มยางพารา เช่น STA, NER จะตอบสนองเชิงบวกในช่วงนี้ ที่ผ่านมา ราคาหุ้น STA ปัจจุบันปรับตัวขึ้น 10% (เมื่อเทียบกับ SET) ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาหุ้น NER ปรับตัวขึ้น 26% (เมื่อเทียบกับ SET) หลังผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 ออกมาดี รวมถึงความต้องการยางที่ฟื้นตัวกลับมา ปัจจุบัน STA เทรดที่ P/E ที่ 9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 14 เท่า ขณะที่ NER ซื้อขายที่ P/E 8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 9 เท่า จึงเป็นโอกาสให้เริ่มเข้าไป “ซื้อ” สะสม
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส รายงานว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 จะอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท (สูงกว่าที่คาดการณ์เดิมไว้) เพิ่มขึ้น 113.7% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นกว่า 16 เท่าตัวเมื่อเทียบจากงวดไตรมาส 3/62 ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจถุงมือยาง (STA ถือหุ้น บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ในสัดส่วน 56%) เติบโตโดดเด่นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 หนุนความต้องการใช้ถุงมือยางเติบโต ส่งผลให้แนวโน้มราคาขายถุงมือยางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 70% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ธุรกิจยางพาราจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากการที่ผู้ผลิตยางล้อในต่างประเทศกลับมาดำเนินการผลิตได้เกือบปกติแล้ว หนุนแนวโน้มปริมาณขายยางพารางวดไตรมาส 3/63 เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.5 แสนตัน จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ขึ้น 92.1% อยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท และในปี 2564 เติบโต 123.5% อยูที่ 8.4 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิของ STGT โดยเฉพาะผลงานไตรมาส 4 จะเติบโตเด่น พร้อมประเมินราคาเป้าหมายใหม่ที่ 40 บาท (จากเดิม 37 บาท) ซึ่งราคาหุ้นปัจจุบันมี Valuation ที่น่าสนใจ โดยอิง P/E เพียง 5 เท่า พร้อมคาดหวังอัตราการจ่ายเงินปันผล 6% ต่อปี
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน วิเคราะห์ทิศทางธุรกิจ NER ว่าแนะซื้อโดยให้ราคาเป้าหมายของปี 2564 ที่ 5.00 บาทต่อหุ้น อิงค่า P/E 8 เท่า และจากราคาที่เคลื่อนไหวในปัจจุบันถือว่ายังน่าลงทุน เทียบกับกำไรสุทธิในปี 2563-2564 ที่คาดว่าจะเติบโต 67% และ 22% ตามลำดับ โดยประเมินกำไรสุทธิในไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาส 2/2563 เพราะปริมาณขายเพิ่มขึ้นกว่า 60% ตามการเพิ่มกำลังการผลิต และลูกค้าใหม่ 2 รายกลุ่มยางล้อในจีนที่เข้ามา ขณะเดียวกัน ประเมินว่าในครึ่งปีหลังแนวโน้มการซื้อยางพาราของจีนน่าจะเติบโตจากตัวเลขปริมาณขายรถในจีนทั้งรถยนต์และรถขนส่งเพิ่มขึ้น เพราะคนท่องเที่ยวด้วยรถยนต์มากขึ้น รวมถึงการส่งของจากการสั่งออนไลน์มากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้รถสำหรับขนส่งมากขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2564 NER จะมีลูกค้าใหม่ 2 ราย คือ CBNB เป็น Conglomerate ในจีนทำธุรกิจหลายอย่าง รวมทั้งผลิตยางล้อในจีน เริ่มส่งสินค้าไตรมาส 1/2564 และ ATK.GG เป็นผู้ผลิตยางล้อในอินเดีย มี Partner คือ Yokohama ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางในญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างส่งตัวอย่างให้ทดสอบ โดยคาดว่าจะเริ่มส่งสินค้าในไตรมาส 1/2564 นับเป็นลูกค้าที่มีอนาคตดี เพราะมีธุรกิจยางล้อในเครื่องจักรเหมืองแร่ ซึ่งใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมากกว่ายางล้อรถยนต์
มีรายงานว่า บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป (TRUBB) ออกมาคาดการณ์ทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลัง 2563 ว่า การดำเนินงานจะฟื้นตัวเป็นปกติหลังสถานการณ์ของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับคาดบริษัทได้รับอานิสงส์เพิ่มจากราคายางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด ราคาพุ่งทะลุ 60 บาท/กิโลกรัม สูงสุดในรอบ 3 ปี จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจีนผู้รับซื้อยางรายใหญ่ของไทยได้กลับมาดำเนินการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ใกล้เคียงกับภาวะปกติแล้ว จึงเร่งส่งมอบยางที่ตกลงซื้อขายกันล่วงหน้า เป็นปัจจัยสนันสนุนผลงาน
ทำให้แนวโน้มธุรกิจช่วงครึ่งหลังปี 2563 มีปริมาณใช้งานยางพาราสูงขึ้นในทุกกลุ่ม ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่น จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 18 ล้านบาท และรายได้ 7.5 พันล้านบาท เป็นผลจากราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนราคาสินค้า โดยราคาเพิ่มสูงขึ้นแตะ 60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 40 บาทต่อกิโลกรัม และการขายยังได้มาร์จิ้นในระดับที่เหมาะสม โดยคาดว่าปริมาณการขายทั้งปีอยู่ที่ 1.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อนที่มีปริมาณขาย 1.5 แสนตัน
ส่วน NER นั้นมีรายงานว่า “ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ได้ขายหุ้นบิ๊กล็อต จำนวน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.87% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ให้แก่ Daiwa Fund Consulting ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น ในราคาหุ้นละ 3.06 บาท รวมมูลค่า 229.50 ล้านบาท เนื่องจากทาง Daiwa ได้ติดต่อขอซื้อเข้ามาหลังจากที่ได้รับเข้ารับฟังข้อมูลจากบริษัทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดย Daiwa นับเป็นกองทุนที่ใหญ่และมีความแข็งแรง มีพอร์ตนักลงทุนจำนวนมาก และได้แจ้งวัตถุประสงค์ต้องการเข้ามาลงทุนในระยะยาว ซึ่งการขายหุ้นให้ Daiwa จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ NER ดีขึ้นในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น และทำให้การขายยางให้แก่กลุ่มทุนญี่ปุ่นเป็นไปได้ง่ายขึ้น
"การขายหุ้นครั้งนี้เพราะ Daiwa เห็นทางการเติบโตจากการขยายทั้งกำลังการผลิตจำนวนมาก มีรายได้แน่นอน และ Daiwa ต้องการหุ้นจำนวนมาก ดังนั้น ทางกลุ่มยอมเสียสละที่จะขายหุ้นให้ ซึ่งเราอาจจะเสียประโยชน์ที่จะได้จากการเติบโตของบริษัท แต่การที่มีกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ให้ความสนใจเข้ามาถือหุ้น จะเป็นผลดีต่อบริษัททั้งในแง่โครงสร้างการถือหุ้นที่มีสถาบันเข้ามาถือ รวมถึงอิมเมจของบริษัทในญี่ปุ่นก็จะดีขึ้น”
สำหรับแนวโน้มธุรกิจช่วงที่เหลือของปี 2563 ผู้บริหารคาดว่ามี ทิศทางขยายตัวได้จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากโรงงานแห่งใหม่เสร็จในไตรมาส 2 ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 172,800 ตัน ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวม 465,600 ตัน ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนที่ลดลงจากขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่ขึ้น ประกอบกับจำนวนลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนลูกค้าเดิมก็มีการสั่งซื้อมากขึ้น จึงมั่นใจว่าผลการดำเนินงานปี 2563 จะเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ที่รายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 30% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1.3 หมื่นล้านบาท
ด้าน “วีรสิทธิ สินเจริญกุล” กรรมการบริหาร บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) แสดงความคิดเห็นถึงทิศทางธุรกิจว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 สามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/63 แม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติมีการบริโภคชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ขณะเดียวกัน ธุรกิจถุงมือยางภายใต้การดำเนินงานของ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทำยอดขายเติบโตอย่างโดดเด่นจากปริมาณการขายสินค้าและราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่สูงขึ้น ประกอบกับได้ขยายกำลังการผลิตแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 32,000 ล้านชิ้นต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ที่ขยายตัวไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยที่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคระบาดได้ และยังมีแผนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2575 เพื่อรองรับดีมานด์จากทั่วโลกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขอนามัยของประชาชนทั่วโลกในยุค New Normal
"เรามั่นใจว่าในปีนี้เป็นปีที่ดีของ STA โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติชะลอตัวจากภาพรวมเศรษฐกิจโลก แต่มั่นใจว่า STA จะสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีกว่าภาพรวมตลาด จากการใช้กลยุทธ์ Selective Selling และความต้องการใช้ถุงมือยางที่มีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก"