ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้กระแสข่าวการลาออกของ "ปรีดี" ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน เผยผลสะท้อนจากผลการจัดงาน "Thailand Focus 2020" นักลงทุนต่างชาติสนใจเรื่องการเมืองน้อย เน้นให้ความสนใจเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ การปรับตัว และแผนธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนไทยมากกว่า
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยผลถึงผลสรุปของการจัดงาน Thailand Focus 2020 เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า นักลงทุนต่างชาติที่เข้าร่วมการประชุมกับบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก โดย 3 ประเด็นหลักที่นักลงทุนให้ความสนใจ 3 ได้แก่ ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย การปรับตัวของบริษัทจดทะเบียน และแผนการปรับตัวในระยะถัดไปของธุรกิจ โดยเฉพาะช่วง 4 เดือนที่เหลือไปจนถึงปี 2564
ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติยังให้ความสำคัญกับมาตรการและนโยบายของภาครัฐที่จะให้ความสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น นโยบายด้านการท่องเที่ยว นโยบายการกักตัวของรัฐไทยและผลกระทบต่อการท่องเที่ยว นโยบายการท่องเที่ยวผ่านภูเก็ตโมเดล และแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือไปจนถึงปีหน้า
นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของบริษัทต่างๆ ให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ (New Normal) เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Lending) อินชัวร์เทค เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เป็นอีกมุมหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเช่นเดียวกัน
ในส่วนของความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนของไทยมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงถึง 47% ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการกระจายความเสี่ยงพอร์ตรายได้ของบริษัทเป็นปกติ นอกจากนี้ เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวยังมีการเติบโต ดังนั้น เชื่อว่าการกระจายพอร์ตในลักษณะนี้ยังเป็นประโยชน์มากกว่าผลเสียต่อบริษัท
ขณะเดียวกัน จากประเด็นการเมืองในประเทศกรณีที่ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลาออกจากตำแหน่งนั้น ชี้ว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจน้อยมาก และมุ่งเน้นที่จะสอบถามเรื่องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นหลัก
“ในส่วนของกระทรวงการคลัง เราก็ต้องติดตามว่าใครจะเข้ามารับหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเมืองมากนัก ซึ่งเราคาดว่าเพราะภาครัฐมีมาตรการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ชัดเจน รวมถึงเป็นมาตรการที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่การต่ออายุมาตรการควบคุมการชอร์ตเซลของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการเฝ้าติดตามอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะครบกำหนดอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะต่อมาตรการนี้ต่อไปหรือไม่ หรือมีการปรับปรุงเกณฑ์การควบคุมการชอร์ตเซล โดยอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาความเหมาะสม และจะประกาศให้ทราบต่อไป” นายภากร กล่าว