xs
xsm
sm
md
lg

ดาวโจนส์กำลังแตะ "ไฮ" เดิม / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ครองความเป็นแชมป์จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุดและมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในโลก โดยตัวเลขล่าสุด เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อ 5.87 ล้านคน เสียชีวิต 1.80 แสนคน แต่ปรากฏการณ์ที่สร้างความมึนงงให้นักลงทุนทั่วโลกคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งทะยาน สวนทางกับสถานการณ์ "โควิด-19" 

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะครบวาระ 4 ปีในเดือนธันวาคมปีนี้ จากระดับ 19,000 จุด ทะยานขึ้นเกือบแตะระดับ 30,000 จุด

ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดัชนีฯ ดาวโจนส์พุ่งขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,9348.10 จุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563

แต่หลังจากนั้น สหรัฐฯ เผชิญต่อการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และภายในเวลาไม่กี่เดือน ยอดผู้ติดเชื้อแซงหน้าทุกประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถูกกระทบหนัก ตลาดหุ้นร่วงระเนะระนาด ดัชนีฯ ดาวโจนส์ดิ่งลงเหว และลงไปต่ำสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาในระดับ 18,591 จุด ลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคมถึงกว่า 10,000 จุด

ประธานาธิบดีทรัมป์ อัดฉีดเงินสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนดัชนีฯ ดาวโจนส์ฟื้นตัวขึ้น และใกล้กลับไปแตะจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 29,300 จุดแล้ว 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีฯ ดาวโจนส์ขยับขึ้นมาปิดที่ระดับ 28,308.46 ต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมเพียง 992 จุด หรือต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมก่อนวิกฤต “โควิด-19” เพียง 3% เศษเท่านั้น

จากประเทศที่เจอผลกระทบ “โควิด-19” อย่างหนัก แต่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับฟื้นตัวจากวิกฤต “โควิด-19” เร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

ตลาดหุ้นไทยบอบช้ำจากวิกฤต “โควิด-19” ไม่น้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยช่วงต้นปี ดัชนีหุ้นกำลังพุ่งทะยาน และขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ 1,600 จุด แต่เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ดัชนีหุ้นจึงปักหัวลง

และลงไปต่ำสุดที่ระดับ 969 จุด ระหว่างชั่วโมงซื้อขาย เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา จนรัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน

หลังจากปลายเดือนมีนาคม ตลาดหุ้นไทยเริ่มกระเตื้องขึ้น โดยดัชนีหุ้นเกาะติดความเคลื่อนไหวของดัชนีฯ ดาวโจนส์

ดาวโจนส์พุ่ง ดัชนีหุ้นไทยก็พุ่งตาม จนสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดหลังวิกฤต “โควิด-19” ที่ระดับ 1,450 จุด แต่ก็ยืนไม่อยู่ เพราะมีปัจจัยลบจากภายในเข้ามากระทบ ปัญหาหาเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนัก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ตกต่ำสุดขีด และล่าสุด เกิดปัญหาม็อบปลดแอก ซึ่งกลายเป็นชนวนการเมืองที่ร้อนระอุ จนเป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนต้องเฝ้าจับตา

ตลาดหุ้นไทยควรฟื้นตัวได้ดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ได้ดี จนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยมาก และเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือเป็นเชื้อ “นำเข้า” ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายใหม่ไม่มี 

ถ้าตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวเร็วเหมือนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นควรจะยืนเหนือระดับ 1,500 จุดไปแล้ว แต่เพราะปัญหาปัจจัยภายใน ทำให้ดัชนีหุ้นยังคลานต้วมเตี้ยมอยู่แถวระดับ 1,300 จุด

และระดับ 1,300 จุด ไม่รู้จะยืนอยู่ได้นานเท่าไหร่ เพราะสถานการณ์การเมืองกำลังคุกรุ่น และไม่อาจประเมินได้ว่า ม็อบปลดแอกนักเรียนนักศึกษาจะจบอย่างไร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่หรือไป

ในระยะสั้น ตลาดหุ้นยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยการเมือง ในระยะยาว ตลาดหุ้นยังถูกกดันจากปัจจัยเศรษฐกิจซบเซา จนไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว

นักลงทุนที่ยังหลงเหลืออยู่ในตลาดหุ้น ทุกวันนี้ เล่นหุ้นระยะสั้น เพราะไม่อาจคาดหวังแนวโน้มหุ้นระยะยาวได้ จึงต้องซื้อขายเก็งกำไรวันต่อวัน หุ้นขึ้นนิดหน่อยก็ขาย มีสัญญาณร้ายเข้ามาก็เผ่น ดัชนีหุ้นจึงย่ำต๊อกแถว 1,300 จุด






กำลังโหลดความคิดเห็น