xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นใหม่มี “กรีนชู” อย่าจอง / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นบริษัท เอิร์ธ เทค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ  ETC กลายเป็นหุ้นน้องใหม่ที่แย่ที่สุด ในบรรดา 4 หุ้นน้องใหม่ที่เข้ามาซื้อขายหลังวิกฤต “โควิด-19” เพราะราคาต่ำกว่าจอง 20% แล้ว แม้จะเข้ามาในตลาด mai ได้เพียง 4 วันทำการก็ตาม

เสียงที่นักลงทุนร้องถามขณะนี้คือ “กรีนชู” หรือการซื้อคืนหุ้นส่วนเกินที่นำเสนอขาย เริ่มทำงานหรือยัง และถ้ายังไม่ทำงานหรือยังไม่ซื้อคืนต้องถามต่อว่า เพราะเหตุใด

ETC นำหุ้นจำนวน 600 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 50 สตางค์ เสนอขายนักลงทุนในราคา 2.60 บาท มีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 85 เท่า มีหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) เสนอขาย 60 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ETC น่าจะเป็นหุ้นตัวแรกในตลาด mai ที่มีระบบกรีนชู เพื่อกระตุ้นนักลงทุนให้จองซื้อ

หุ้นตัวสุดท้ายที่มีระบบกรีนชูคือ หุ้นบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 โดยราคาจอง 42 บาท แต่ต่ำกว่าจองตั้งแต่วันแรก

และระบบกรีนชูไม่มีบทบาทในการพยุงหุ้นแต่อย่างใด จนถูกวิพากษ์ว่า กรีนชู เป็นกลไกในการสร้างภาพ ชักจูงให้นักลงทุนเชื่อว่า หุ้นที่มีกรีนชู เมื่อเข้าซื้อขายราคาจะไม่ต่ำกว่าราคาจอง

แต่หุ้นกรีนชูหลายต่อหลายตัวแล้วที่รูดลงต่ำกว่าจอง โดย ไม่เคยมีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้บริหารหุ้นใหม่ หรืออันเดอร์ไรเตอร์อธิบายถึงบทบาทของกรีนชู 

ในอดีตบริษัทอันเดอร์ไรเตอร์บางแห่งจะประกาศในระหว่างช่วงเสนอขายหุ้นที่มีกรีนชู ยืนยันว่า จะเข้าซื้อหุ้นคืนทันทีที่ราคาต่ำกว่าจอง

ปัจจุบันไม่มีบริษัทอันเดอร์ไรเตอร์รายใด ชี้แจงเรื่องกรีนชู โดยหุ้นเข้ามาซื้อขาย เมื่อราคาต่ำกว่าจอง ทุกฝ่ายจะเงียบเป็นเป่าสาก เช่นเดียวกับหุ้น ETC ซึ่งซื้อขายวันที่ 2 ก็หลุดจองแล้ว

ล่าสุด ETC ปิดที่ 2.08 บาท ต่ำกว่าจอง 52 สตางค์ หรือ 20% และแนวโน้มราคายังไม่น่าไว้วางใจ

ขาใหญ่ที่ได้รับโควตาจอง ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมบางส่วนน่าจะเผ่น ชิงขายหุ้นทำกำไรตั้งแต่วันแรก เหลือแต่รายย่อยเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ 

กรีนชูหรือการซื้อคืนหุ้นส่วนเกินที่เสนอขายนักลงทุน จะกำหนดเวลาภายใน 30 วันตามปฏิทิน นับจากวันที่หุ้นเข้าซื้อขาย นักลงทุนทั่วไปเข้าใจว่า ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่าจอง กรีนชูจะทำงานโดยเข้ามาซื้อหุ้นทันที

แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ใช่ โดยกรีนชูจะซื้อหุ้นราคาใดก็ได้ จะซื้อเมื่อไหร่ตามใจอันเดอร์ไรเตอร์ ไม่ซื้อก็ได้อีกเหมือนกัน

การนำหุ้น ETC ส่วนเกินมาขายในราคา 2.60 บาท แต่เมื่อราคาทรุดต่ำกว่าจอง กลับไม่ซื้อคืน

กรีนชูจึงเหมือนเกมแหกตานักลงทุน ซึ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงไม่ซื้อคืน หรือต้องการโกยกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นอีก นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น

ETC เข้ามาซื้อขายในจังหวะที่ดีมาก เพราะหุ้นใหม่รุ่นพี่ทั้ง 3 ตัว ราคาพุ่งทะยานกว่า 100% เมื่อเทียบกับราคาจอง ทำให้ ETC เป็นที่สนใจ

แต่นักลงทุนที่แห่เก็งกำไร ETC ต้องตายเกลื่อน แม้แต่คนที่จองซื้อและไม่ขายในวันแรก สะท้อนให้เห็นว่า ราคาหุ้นที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไปสูงลิบ จนนักลงทุนขาใหญ่และผู้ถือหุ้นเดิมแย่งกันทิ้งหุ้นในวันแรก

นักลงทุนถูกหลอกให้จองซื้อหุ้นที่มีกรีนชูมาตลอด เพราะคิดว่ามีหลักประกันในราคาจอง แต่เมื่อราคาหุ้นหลุดจอง กลไกกรีนชูกลับไม่ทำงาน

หุ้นดีๆ ไม่จำเป็นต้องมีกรีนชูให้ยุ่งยาก หุ้นดีๆ ยังไงก็เป็นที่สนใจของนักลงทุน ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพมากระตุ้น

หุ้นที่มีกรีนชูหลายตัวแล้ว จองซื้อแล้วต้องเจ็บตัว

หุ้นใหม่ตัวต่อๆ ไป ตัวไหนนำกรีนชูมาสร้างภาพ ตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า เป็นหุ้นที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย ถ้าไม่อยากเจ็บตัว อย่าจองซื้อ






กำลังโหลดความคิดเห็น