xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นแกว่ง Sideway Down ทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ นักลงทุนลดความเสี่ยงหลังหลายปัจจัยไม่แน่นอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นไทยปิดร่วง 19.64 จุด ดัชนีแกว่ง Sideway Down ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ นักลงทุนลดความเสี่ยงหลังหลายปัจจัยไม่แน่นอน สำหรับแนวโน้มการลงทุนสัปดาห์หน้าคาดตลาดย่อตัวสร้างฐาน

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่ง Sideway Down ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียวันนี้เคลื่อนไหวทั้งแดนบวก-ลบ เช่นเดียวกับตลาดยุโรปเทรดบ่ายนี้ติดลบเฉลี่ย 1.5% เหมือนกับดาวโจนส์ฟิวเจอร์สปรับลงราว 200 จุด

ตลาดบ้านเราบ่ายนี้ปรับตัวลงไปแรง จากการลดความเสี่ยงหลายปัจจัยจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนวันที่ 15 ส.ค.นี้ มองว่าจะเคลียร์กันเรื่องการซื้อสินค้าต่างๆ ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่ได้มีการซื้อสินค้าตามที่ตกลงกันไว้ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในวันที่ 16 ส.ค.ก็จะมีการชุมนุมการเมืองในประเทศ ซึ่งก็มีความไม่แน่นอนอยู่ และในวันที่ 17 ส.ค.ต้องติดตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) งวดไตรมาส 2/63 ของไทยที่จะประกาศออกมา ซึ่งตลาดคาดว่าจะติดลบ 13-14% yoy อีกทั้งตอนนี้ก็อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมาบ้างเช่นกัน

ด้านภาวะตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,327.05 จุด ลดลง 19.64 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.46% มูลค่าการซื้อขาย 58,050.78 ล้านบาท ด้านประเภทนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,211.49 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 576.62 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,293.29 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 5,081.39 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์หน้า นายวิจิตร กล่าวว่า เนื่องสัญญาณทางเทคนิคตอนนี้ไม่ค่อยดี จากที่หุ้นขนาดใหญ่ อย่างหุ้นในกลุ่มแบงก์ และกลุ่มพลังงาน ขึ้นไปไม่ค่อยไหว ทำให้มีโอกาสที่สัปดาห์หน้าตลาดจะย่อตัวลงมาสร้างฐานก่อน โดยมีแนวรับ 1,300 จุด ส่วนแนวต้าน 1,350 จุด สัปดาห์หน้าให้ติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 ส.ค.นี้ โดยให้จับตาการส่งสัญญาณจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และช่วงปลายสัปดาห์ให้ติดตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต และภาคบริการของทั้งสหรัฐฯ และยูโรโซน


กำลังโหลดความคิดเห็น