กรุงศรีฯ มั่นใจเงินกองทุนแข็งแกร่งพร้อมรับมือหากเศรษฐกิจย่ำแย่ พร้อมเดินหน้าเพิ่มสำรองต่อเนื่อง ยันยังลงทุนในฟิลิปปินส์
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้เสียและสำรองส่วนเกินเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้น ขณะนี้ธนาคารมีความแข็งแกร่งระดับสูง ในการรองรับความเสียหายต่อธุรกิจ หากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ขั้นเลวร้าย และยังคงนโยบายการตั้งสำรองจะมีความเข้มงวดต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนถึงผลกระทบโควิด-19 และยังมีมาตรการผ่อนคลายของ ธปท.อยู่ คาดว่าสิ้นปีนี้น่าเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังคงอยู่ไปอีกในระยะ 18 เดือนข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้คัดกรองการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความระมัดระวังต่อเนื่องจากปีก่อน และกลุ่มลูกค้าใหญ่ของธนาคาร โดยเฉพาะธุรกิจญี่ปุ่น สัดส่วน 11% ของพอร์ต และบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งยังสามารถประคองตัวได้ และไม่ได้มาขอเข้ามาตรการช่วยเหลือแต่อย่างใด ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยูในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง และไตรมาส 4 ของปีนี้น่าจะเห็นภาพ NPL ชัดเจนขึ้น หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ โดย NPL ปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1.98%
อนึ่ง ในปี2562 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 16.56% และหากเป็นของกรุงศรี กรุ๊ป อยู่ที่ 17.81% ทำให้มั่นใจว่ารองรับการเติบโตในอนาคต
สำหรับกรณีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ บริษัท การบินไทย (THAI) นั้น ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องบินให้แก่บริษัท จำนวน 2 ลำ วงเงิน 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้จัดชั้นเป็นหนี้เสียและตั้งสำรองเต็มจำนวนแล้ว
นายแดน ฮาร์โซโน่ ประธานกลุ่มลูกค้ารายย่อย และลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า กรณีการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท SB Finance Company Inc. (SBF) ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์จาก Security Bank Corporation (SBC) ในสัดส่วน 50% โดยมีมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นจำนวน 1,828.2 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ หรือคิดเป็น 1,096.9 ล้านบาทนั้น เป็นการตกลงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายดังกล่าวจะมีการสรุปราคาสุดท้ายอีกครั้งซึ่งจะเป็นราคารวมเอาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว
"กรอบราคาที่ตกลงไว้มีระยะเวลาที่ตกลงกับระยะเวลาปิด อาจจะห่างกัน เพราะต้องผ่านการตรวจสอบ ประเมินราคาทรัพย์สิน ดังนั้น เวลาที่ปิดราคาจริงๆ ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น ก็จะนำไปปรับราคาซื้อขาย ดังนั้น ราคาสุดท้ายก็จะเป็นราคาที่ปรับรับผลกระทบแล้ว ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ยังมีความน่าสนใจในการลงทุน แม้ว่าจะมีการคุมโควิด-19 ไม่ดีเท่าไทย เพราะเป็นประเทศที่มี young gen อยู่สูง และธนาคารก็มองถึงการลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น"