ททท.จัดแคมเปญกระตุ้นกลุ่มคนไทยที่นิยมไปนอกกว่า 12-13 ล้านคน หันมาเที่ยวไทย มอบสิทธิพิเศษ ส่วนลดเรื่องท่องเที่ยวมากขึ้น หวังดูดเงิน 4 แสน ลบ.หมุนเวียนในประเทศ ลั่นไตรมาส 4 อาจมีสัญญาณการเปิดน่านฟ้า แต่รูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป มั่นใจมาตรฐาน SHA ยกระดับผู้ประกอบการ สร้างความมั่นใจให้การบริการแก่นักท่องเที่ยว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงการกระตุ้นนักท่องเที่ยวคนไทยที่นิยมเดินทางไปต่างประเทศว่า แต่ละปีจะมีการเดินทางออกต่างประเทศประมาณ 12-13 ล้านคน มูลค่าเงินที่ใช้ในต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท กลุ่มนี้ก็เริ่มหันมาท่องเที่ยวภายในไทย
โดยทาง ททท.จะมีโครงการที่จะกระตุ้นกลุ่มดังกล่าว เช่น ใครที่มีหลักฐานมีการจองตั๋วเดินทาง หรือจองห้องพักในต่างประเทศ แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนเดินทางออกไป ก็จะมีส่วนลดให้เพิ่มเติม 10-15% เพื่อจูงใจให้ท่องเที่ยวในประเทศ และจากการสำรวจ พบว่า กลุ่มคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ประมาณ 69% อยากเที่ยวในประเทศไทย ถ้าไม่ได้ไปเมืองนอก แต่สำคัญที่สุด เรามีโปรดักต์ที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการมากน้อยเพียงใด
"เราอาจจะเลือกเมืองหลักก่อน คนมีเงินอาจไม่จำกัดเรื่องเวลา เราอาจจะมีส่งเสริมในช่วงวันหยุดตามนโยบายของท่านนายกฯ ซึ่งทำได้เลย"
สำหรับแนวทางส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคท่องเที่ยวภายในประเทศ ผู้ว่าฯททท.ระบุว่า โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA คือความต้องใจของ ททท. ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือผู้ใช้บริการหลังสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทาง
ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการบริการและด้านสุขอนามัยให้เป็นไปตามมาตรฐานทางสาธารณสุข และสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจได้
"ทาง ททท.กล้าพูดได้เลยว่า มาตรฐาน SHA เป็นระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งในสิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ประกาศคล้ายๆ ของ ททท. ขณะเดียวกัน ในอนาคตหากไปค้นหาใน โอทีเอ การค้นหาห้องพักต่างๆ ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมาจะเป็นเรื่องสุขภาพ ซึ่ง SHA จะเป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลตรงนั้น โดยสามารถนำไปต่อยอดด้านการตลาด และทำความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่จะให้บริการที่ดี รวมทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือแม้แต่การท่องเที่ยวจากประเทศในวงจำกัด หรือทราเวลบับเบิล ต่อไปนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยจะต้องเดินทางไปยังสถานที่บริการ หรือ ซัปพลายเชนที่มีมาตรฐาน SHA"
ตอนนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งประเทศมากกว่าหมื่นราย ทยอยตรวจสอบเอกสารและสุ่มตรวจ ปัจจุบันมีผู้ผ่านมาตรฐาน SHA แล้ว ล่าสุดกว่า 3,000 ราย ทั้งนี้ วางเป้าหมายให้แต่ละจังหวัดจะมีผู้ประกอบการผ่านไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ในส่วนของจังหวัดชลบุรี มีผ่านมาตรฐาน SHA จำนวน 300 ราย คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่า บรรดาเมืองหลักๆ จะมีความตื่นตัวในการรับมาตรฐานประเภทนี้
สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น ทุกประเทศได้สอบถามถึงการเปิดประเทศไทย แต่หากคนไทยยังไม่พร้อม ผมคิดว่าเราคงรอได้ เนื่องจากรัฐบาลเน้นย้ำมาตลอดว่า ความปลอดภัยของคนไทยในประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ส่วนเรื่องการจะเปิดหรือไม่เปิดประเทศนั้น ขึ้นอยู่ก้บสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ และหากจะเปิดรับคงไม่เปิดรับคนทั้งโลกเหมือนในอดีตคงไม่ใช่ แต่เราจะเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง เป็นขั้นเป็นตอน
"โมเดลเซฟโซนก็มีความเป็นไปได้ เรามีการพูดคุยกันอยู่ ถ้านักท่องเที่ยวจะเข้ามาต้องอยู่ยาว เพราะเข้ามาแล้วต้องมีการตรวจอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และต้องตรวจพนักงานโรงแรมด้วย แต่ก็ยอมรับว่า เราพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศในอัตราที่สูง ถ้าไม่มีกลุ่มนี้เข้ามา ผู้ประกอบการก็ลำบากต่อ ซึ่งในใจผมแล้ว การเปิดประเทศน่าจะเริ่มไตรมาส 4 เป็นต้นไป แต่ภาพการเปิดประเทศจะไม่เหมือนแต่ก่อน เดิมเราเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3-4 ล้านคน แต่จากนี้ไป การเข้ามาอาจจะเป็นแค่หลักแสนคน รูปแบบเปลี่ยนไป ขณะที่ผู้ประกอบการก็เข้าใจในสถาการณ์ บางโรงแรมในภูเก็ต กลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติหมด เปิดไปก็มีภาระค่าใช้จ่าย ก็อาจตัดสินใจไปเปิดโรงแรมปีหน้าแทน ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดีเหมือนกันทุกประเทศ กำลังซื้ออาจจะไม่เยอะมาก ประกอบกับความไม่มั่นใจเศรษฐกิจในอนาคต ทุกคนจะเก็บเงินสดไว้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ"