การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า และเสริมจุดแข็งเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในอนาคต หลายบริษัทจึงต้องการ “เงินทุน” เพื่อใช้หมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งการจัดหาเงินทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีหลัก คือ (1) การกู้ยืมเงิน ซึ่งอาจจะกู้ยืมจากสถาบันการเงินหรือออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุน และ (2) การระดมทุน โดยเสนอขายหุ้นต่อผู้ลงทุน ซึ่งบริษัทจะเลือกวิธีการจัดหาเงินทุนรูปแบบใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างทางการเงินของบริษัท ลักษณะการประกอบธุรกิจ และทรัพย์สินของบริษัท
จอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการจัดหาเงินทุนโดยการเสนอขายหุ้นต่อผู้ลงทุน สามารถเลือกวิธีการระดมทุนได้ 3 ช่องทางหลัก ซึ่งแต่ละช่องทางก็มีข้อดีและกระบวนการที่แตกต่างกัน ดังนี้
1.การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม หรือ Right Offering (RO)
RO หมายถึง การเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือครองหุ้น ซึ่งบริษัทสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลต่อ ก.ล.ต. ผู้ถือหุ้นจะได้รับสิทธิและโอกาสในการตัดสินใจก่อนผู้ลงทุนรายอื่นที่มิใช่ผู้ถือหุ้นว่าจะเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในบริษัทที่ตนเองถือหุ้นอยู่หรือไม่ และผู้ถือหุ้นจะได้รับผลกระทบในเรื่อง dilution effect น้อยที่สุด
ในการระดมทุนแบบ RO บริษัทควรต้องประเมินความเป็นไปได้ว่า ผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ตามเป้าหมายของการระดมทุนของบริษัทด้วยหรือไม่
2.การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP)
PP หมายถึง การเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจง (ผู้ลงทุนไม่เกิน 50 ราย หรือมีมูลค่าการระดมทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท) การระดมทุนในลักษณะนี้เหมาะกับบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการพันธมิตรทางธุรกิจ (business partner หรือ strategic partner) เข้ามาผนึกกำลัง (synergy) ให้กับบริษัท ซึ่งการเสนอขายแบบ PP ใช้เวลาไม่นาน ขณะที่ต้นทุนและกระบวนการในการเสนอขายน้อยกว่ากรณีอื่น โดยหากบริษัทจดทะเบียนกำหนดราคาเสนอขายที่เป็นไปตามราคาตลาด ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นน้อยกว่ากรณีอื่น บริษัทเพียงแต่ยื่นเอกสารตามที่กำหนดต่อ ก.ล.ต. และสามารถเสนอขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล แต่ถ้าบริษัทจดทะเบียนกำหนดราคาเสนอขายต่ำกว่าราคาตลาด บริษัทจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด
3.การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป หรือ Public Offering (PO)
PO หมายถึง การเสนอขายต่อประชาชนได้เป็นวงกว้างหรือเป็นการทั่วไป โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ลงทุนและมูลค่าการระดมทุน ซึ่งเหมาะกับบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุนจำนวนมาก และอาจจำเป็นจะต้องระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปหรือหาโอกาสขยายฐานนักลงทุน การระดมทุนในลักษณะนี้ บริษัทมีหน้าที่ยื่นคำขออนุญาตและยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อ ก.ล.ต. เหมือนตอนที่บริษัทเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรกก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า IPO)
นอกจากขั้นตอนเกี่ยวกับการยื่นเอกสารต่อ ก.ล.ต. แล้ว การเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดนั้น จะต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ซึ่งการขออนุมัติเพิ่มทุนจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมี 2 วิธี ได้แก่ (1) การขออนุมัติเพิ่มทุนแบบกำหนดวัตถุประสงค์ และ (2) การขออนุมัติเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป หรือ General Mandate
การเพิ่มทุนแบบกำหนดวัตถุประสงค์ คือ การเพิ่มทุนที่บริษัทจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงิน จำนวนหุ้นที่ออกเสนอขายและการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไว้อย่างชัดเจนในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ในขณะที่การเพิ่มทุนแบบ General Mandate คือ กรณีที่บริษัทยังไม่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยระบุเพียงจำนวนหุ้นและประเภทการเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ และมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาในการออกหุ้นและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายในแต่ละคราวได้ในระดับหนึ่งซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติเพิ่มทุนเป็นรายครั้งได้
ดังนั้น หากบริษัทจดทะเบียนต้องการความคล่องตัวและรวดเร็วในการระดมทุน และทันต่อสถานการณ์ก็อาจจะเลือกใช้วิธีการขอมติเพิ่มทุนแบบ General Mandate เพื่อขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเป็นกรอบของการระดมทุนไว้ก่อนล่วงหน้าในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีก็ได้
สำหรับผู้ถือหุ้น เมื่อต้องพิจารณาวาระที่เกี่ยวกับการขายหุ้นเพิ่มทุน ก.ล.ต. ขอให้ศึกษาข้อมูลในหนังสือเชิญประชุมโดยละเอียดและใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการรักษาประโยชน์ของตน พร้อมทั้งซักถามกรรมการและผู้บริหารถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนในการประกอบการตัดสินใจ