ก.ล.ต.มุ่งมั่นดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนกลุ่มผู้เปราะบางและวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้พัฒนาอาชีพเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี จึงร่วมมือกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดร้าน Café Amazon for Chance ที่ให้บริการโดยผู้บกพร่องทางการได้ยิน ณ อาคารสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรมภายในองค์กร โดยหนึ่งในการดำเนินการ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม และให้โอกาสกลุ่มผู้เปราะบางและวิสาหกิจเพื่อสังคมได้พัฒนาอาชีพเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
ก.ล.ต.จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดร้าน Café Amazon for Chance ที่ให้บริการโดยผู้บกพร่องทางการได้ยิน ณ สำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกันเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562
เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 มีพิธีเปิดร้าน Café Amazon for Chance สาขาสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นสาขาที่ 9 อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เข้าร่วมพิธีเปิด ซึ่งมีนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงาน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานกรรมการ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความยินดี พร้อมด้วยนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) นางอัจฉริยา เจริญศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้บริหารกลุ่ม ปตท. และผู้บริหาร ก.ล.ต.เข้าร่วมพิธีเปิด
นอกจากนี้ ทางร้าน Café Amazon for Chance ได้จัดหาเบเกอรีจากร้าน 60+Bakery and Chocolate Café โดยมูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) มาขายในร้านเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีส่วนร่วมของคนพิการเพื่อคนทั้งมวล (disability-inclusive business) อีกด้วย
“ก.ล.ต.ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “การให้” ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคม และเป็นการให้ “โอกาส” บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน ซึ่งการสร้างสังคมแห่งการให้จะทำตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” นางสาวรื่นวดีกล่าว