ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้าแพกเกจมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งจะเน้นดูแลในเรื่อง “ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลรายย่อย” ของสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ SFIs และผู้ประกอบการนอนแบงก์ โดยมาตรการระยะที่ 2 ที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการระยะแรกที่กำลังจะทยอยสิ้นสุดลง เพราะคงต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกค้ารายย่อย ตลอดจนการฟื้นตัวของกำลังซื้อ/รายได้ของประชาชนทั่วไปยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่าในช่วงหลายเดือนหลังจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทอาจจะเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง ภายหลังการคลายล็อกดาวน์ในประเทศ
โดยมาตรการเฟส 2 เน้นการ “ลดดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย” ของแบงก์และนอนแบงก์ โดยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การ “ลดเพดานดอกเบี้ย” สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เริ่มมีผล 1 ส.ค.2563 และ 2.การ “ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม” สำหรับลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ลงทะเบียนเข้าโครงการเพื่อรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่าง 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2563
นอกจากนี้ มาตรการเฟส 2 ยังเน้นไปที่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งมักจะมีภาระผ่อนต่อเดือนสูงเพื่อให้ลูกหนี้แต่ละรายมีภาระผ่อนต่อเดือนน้อยลง ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่สอดคล้องต่อกระแสรายได้ของตนเองมากขึ้น
ทั้งนี้ ในมุมของลูกหนี้นั้น มาตรการเฟส 2 จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดภาระทางการเงิน และเหมาะสมต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ของตน โดยลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ครอบคลุมทั้งลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเดิม และลูกหนี้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ มาก่อน อย่างไรก็ดี เงื่อนไขสำคัญสำหรับลูกหนี้ที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเฟส 2 ก็คือ จะต้องเป็นลูกหนี้ปกติ ณ วันที่ 1 มี.ค.2563 (ไม่เป็นลูกหนี้ NPLs หรือค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน) และต้องมีความสามารถในการผ่อนชำระคืนหนี้ตามภาระหนี้ใหม่ภายใต้มาตรการเฟส 2
ขณะที่ในมุมของสถาบันการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินการตามแนวทางการช่วยเหลือสำหรับลูกค้ารายย่อยระยะที่ 2 ของ ธปท. จะเป็นภารกิจเพิ่มเติมของสถาบันการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสภาพคล่องแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งคงต้องยอมรับว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลตามแนวทางดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันให้แก่สถาบันการเงิน เพราะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้
สำหรับผลต่อธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยตามมาตรการเฟส 2 จะมีผลกระทบผ่าน 2 ช่องทางต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามเพดานใหม่สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่เป็นวงเงินหมุนเวียน และจะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้าร่วมมาตรการเฟส 2 ซึ่งแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้ารายย่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 จะอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.8-1.5% ของรายได้ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 3 ปี 2563
นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในไตรมาส 3 จะเป็นสถานการณ์ของลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการเฟสแรกว่า จะสามารถกลับมาผ่อนชำระหนี้คืนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งมองว่าภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ อาจทำให้ลูกหนี้ส่วนใหญ่เลือกที่จะขอขยายเวลาการชำระหนี้ หรือพักชำระหนี้ต่อ ซึ่งตัวแปรดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนสถาบันการเงินอื่นๆ ทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจและนอนแบงก์ ต้องวางแผนเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อผลประกอบการไปในเวลาเดียวกัน
โดยสรุป แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จะเผชิญโจทย์ท้าทายต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อสถานะของลูกค้า รวมถึงผลจากเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางของทางการ อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีการวางกลยุทธ์ รวมถึงปรับแผนการทำธุรกิจอย่างรอบคอบ มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ประกอบกับมีฐานเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือน เม.ย.2563 ธ.พ.ไทยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,616,162 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 18.9% ซึ่งนับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของ ธปท.ที่ 11.0% ขณะที่สัดส่วนสำรองที่มีอยู่ต่อ NPLs อยู่ที่ 140% ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะที่เหลือของปีได้