สถาบัน Creative Investment Space เผยตลาดหุ้นขึ้นมาอย่างรวดเร็วทั่วโลกในครั้งนี้เป็นผลมาจากการทำคิวอีอย่างไม่จำกัด ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น สวนทางกับภาคเศรษฐกิจจริงที่ยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัว ระวังทองคำ ในระยะสั้นถูกเทขาย เพราะนักลงทุนแห่ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง แต่ระยะยาวยังน่าสนใจในการลงทุนจากภาวะเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับสินทรัพย์ดิจิทัล บิตคอยน์
สถาบัน Creative Investment Space กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากสภาพคล่องที่เกิดขึ้นจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางใหญ่ของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ซึ่งเม็ดเงินที่เกิดจากการใช้นโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ได้ทำให้งบดุลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
“งบดุลของรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งแตะ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ที่สำคัญ คือมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงแค่สองเดือนหลังจากสหรัฐฯ ประกาศอัดฉีดเงินแบบไม่มีจำกัด เรียกได้ว่าการอัดฉีดเงินครั้งนี้มีปริมาณเทียบเท่ากับเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการทำคิวอีทั้งสามครั้งในอดีต แต่นี่เกิดขึ้นภายในเวลาเพียงแค่สองเดือนนิดๆ เท่านั้น”
นอกจากนี้ ดัชนี Dollar Index ซึ่งเทียบเคียงกับสกุลเงินหลักของโลกอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าอาจจะมาจาก Fed Fund Futures ที่เริ่มแสดงให้เห็นว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นเริ่มมีสัญญาณของการให้ผลตอบแทนที่ติดลบแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มนำเงินออกจากสกุลดอลลาร์ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น
“สินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีทิศทางตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะตลาดหุ้น ทองคำ น้ำมัน รวมถึงสกุลเงินดิจิทัล การที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์มีการกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงวันศุกร์ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมาจากการรายงานตัวเลขผู้ว่างงานที่ลดลงและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ในระยะยาวยังมีปัจจัยลบอื่นที่จะกดดันเงินดอลลาร์อยู่ ไม่ว่าจะกรณีประท้วงจอร์จ ฟลอยด์ หรือความขัดแย้งกับประเทศจีน
ทั้งนี้ ตลาด NASDAQ ซึ่งเป็นตลาดของบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่กลับมาอยู่ในระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤต แต่ได้ทำนิวไฮใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการฟื้นตัวแบบ V Shape ขณะที่ดัชนี S&P500 ก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤตเช่นกัน
สำหรับตลาดหุ้นไทยได้ฟื้นตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 1,400 จุด โดยแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายที่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย แม้ว่าสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างคาดการณ์จีดีพีปีนี้จะปรับลดลง สาเหตุที่ตลาดหุ้น รวมถึงราคาน้ำมัน ปรับตัวขึ้นสวนทางกับภาพรวมของเศรษฐกิจจริง เป็นเพราะสภาพคล่องที่มีอยู่ล้นทั่วโลกจากการอัดฉีดสภาพคล่อง ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลงและบางประเทศมีอัตราที่ติดลบ ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินต้องมองหาสินทรัพย์ในการลงทุนจึงเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นแทน
“หลายประเทศทั่วโลก ยกเว้นละตินอเมริกาที่ไวรัสโควิด-19 เพิ่งจะระบาดหนัก เริ่มมีมาตรการคลายการ Lockdown ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นเพื่อเก็งว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ประกอบกับคำพูดของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องแบบไม่ยั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความมั่นใจ อีกทั้งเงินเฟ้อที่เริ่มฟื้นตัวและอัตราการว่างงานที่เริ่มชะลอตัวลง ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าการทำคิวอีเป็นเครื่องมือที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหุ้นขึ้นมารอบนี้เป็นผลจากสภาพคล่องและความเชื่อมั่นเท่านั้น แทบจะไม่มีเหตุผลทางด้านปัจจัยพื้นฐานของภาคเศรษฐกิจจริงเท่าใดนัก”
นอกจากนี้ การที่ The Economist สื่อเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้ให้ความเห็นว่าตอนนี้ Wall Street และ Main Street หรือภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงได้ถูกแยกออกจากกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการชี้ชัดว่าตลาดหุ้นที่ขึ้นมาในรอบนี้มาจากสภาพคล่องที่ล้นอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ทองคำในระยะสั้นแม้จะมีการถูกเทขายจนลงมาแตะระดับ 1,700 ดอลลาร์ต้นๆ แต่ระยะยาวยังน่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินที่ออกมาจากการทำคิวอีจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทองคำ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์จะสามารถให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี
“มีคำพูดว่า Don’t Fight The FED หรืออย่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเฟด คำพูดนี้อาจจะจริง คิวอีอาจจะแก้ปัญหาที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ได้ แต่เศษซากที่เกิดจากการอัดฉีดสภาพคล่อง นั่นคือ เงินเฟ้อ จะส่งผลเสียต่อเงินดอลลาร์ในระยะยาว”