GEP ในฐานะผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เผยเตรียมระดมทุนขยายธุรกิจตามพันธกิจก้าวสู่การเป็นผู้นำทางความคิด ลดการปล่อยมลพิษ นำโลกสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน พร้อมแต่งตั้ง คันทรี่กรุ๊ป เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เดินหน้าปรับโครงสร้างแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตั้งเป้ายื่นไฟลิ่งเร็วๆ นี้ มั่นใจธุรกิจพื้นฐานดี แนวโน้มการเติบโตสูง
นายออง ทีฮา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Green Earth Power (Thailand) Company Limited (กรีนเอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด) หรือ GEP เปิดเผยว่า GEP มีแผนที่จะเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น แสงอาทิตย์ และลม จำหน่ายให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีความร่วมมือของผู้ลงทุนหลัก คือ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) บจก.อีซีเอฟ พาวเวอร์ ในฐานะบริษัทย่อยของ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) และบริษัท Noble Planet PTE. Ltd. (“NP”) โดย GEP ได้เริ่มกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว 215,755,800.00 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,157,558.00 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท
สำหรับโครงการปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท คือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ ณ เมืองมินบู สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้า 0.1275 USD / KWh แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 4 เฟส โดย 3 เฟสแรกมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 50 MW เฟสสุดท้าย 70 MW ขนาดพื้นที่รวมโครงการ 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาลและบริษัทเอกชนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อมีการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะขายให้ Electric Power Generation Enterprise (“EPGE”) ภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
"ภาพรวมของอุตสาหกรรมพลังงาน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh/ปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 200,000 ครัวเรือน สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพม่ามีเพียงแค่ร้อยละ 50 ในช่วงปี 2562 และตั้งเป้าการเข้าถึงไฟฟ้าร้อยละ 100 ภายในปี 2573 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศพม่าผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แล้วจำนวน 5,642 MW และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 4,940 MW รัฐบาลยังมีแผนการพัฒนาขยายสายส่งกระแสไฟฟ้าเพิ่มอีกรวมกว่า 5,302 ไมล์ทั่วประเทศพม่า"
นอกจากนี้แล้ว บริษัทฯ ยังมีแผนการในการมุ่งพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูทั้งสี่เฟสให้สำเร็จลุล่วง และพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนโครงการอื่น โดยมีเป้าหมายหลักเป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ตลอดจนริเริ่มโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย
ผลการดำเนินงานของบริษัทล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีกำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์เท่ากับ 88.58 ล้านบาท บริษัทเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับเฟสที่ 1 ขนาด 50 MW ที่แล้วเสร็จ นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงมีแผนที่จะเตรียมตัวสำหรับการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการขยายธุรกิจและเป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จของพันธกิจที่ตั้งไว้ คือ การเป็นผู้นำทางความคิดที่จะลดการปล่อยมลพิษเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแต่งตั้ง บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน” นายออง ทีฮา กล่าว
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ หรือ SCN เปิดเผยว่า SCN เข้ามาผนึกกำลังกับ GEP ในสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 40 เราถือเป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานในพม่า เปิดโอกาสให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในอนาคต ไม่ใช่เพียงโรงไฟฟ้า