xs
xsm
sm
md
lg

คลินิกแก้หนี้อัดยา 2 ขนานทางรอดเจ้าหนี้-ลูกหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.แนะยา 2 ขนานของคลินิกแก้หนี้ เลื่อนชำระค่างวดเงินต้นและดอกเบี้ย-ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 2% นาน 6 เดือน (เม.ย-ก.ย) ทางรอดของเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ช่วง COVID-19



น.ส.ปริยดา อาสยวชิร ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคยหมุนเร็วกลับชะลอตัว รายได้ของประชาชนและธุรกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าปัจจุบันแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าวิกฤตครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอาจใช้เวลา 2-5 ปี กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อาจขยายวงกว้าง เมื่อเดือนมีนาคม 2563 คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางเพื่อแก้ปัญหาหนี้บัตร ได้ออกมาตรการ 2 ส่วนสำคัญเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนยา 2 ขนานที่ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19

ยาสูตรที่ 1 คือ เลื่อนการชำระค่างวด ทั้งในส่วนเงินต้นและดอกเบี้ย (loan repayment holiday) ออกไป 6 เดือน ช่วงเมษายน-กันยายน 2563 สำหรับลูกหนี้ทุกรายในโครงการ โดยไม่ต้องจ่ายค่างวด และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต

ยาสูตรที่ 2 คือ ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 2% ในช่วง 6 เดือน (เมษายน-กันยายน 2563) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระได้ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% เหลือเพียง 2-3%

การออกแบบให้มียา 2 ขนานเพื่อสู้ภัยโควิด เนื่องจากโครงการมีลูกหนี้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ มีรายได้และสภาพคล่องลดลง ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือก็จะชำระค่างวดไม่ได้ และอาจต้องออกจากโครงการ กลับเข้าสู่วงจรหนี้เสียเช่นเดิม กลุ่มนี้จะได้รับยาขนานแรก โดยโครงการจะให้สิทธิแก่ลูกหนี้ทุกรายเป็นการทั่วไป ไม่ต้องโทร.ติดต่อเข้ามาเพื่อขออนุมัติ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้ทีละราย ทำให้โครงการสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้คล่องตัวและทันท่วงที

กลุ่มที่สอง คือ ลูกหนี้ที่ยังพอชำระค่างวดได้ โครงการจะกระตุ้นให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ชำระค่างวดเข้ามาตามกำลังความสามารถ โดยจะได้รับยาขนานที่สอง คือ ลดดอกเบี้ยให้ 2% หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงนี้ ในขณะเดียวกัน โครงการยืดหยุ่นให้ลูกหนี้แต่ละรายสามารถชำระหนี้เข้ามาได้ตามความสามารถ ซึ่งอาจจะไม่เท่ากันตลอด 6 เดือน เดือนไหนที่ลูกหนี้ชำระค่างวดเข้ามา เท่ากับว่าลูกหนี้ opt out ออกจากมาตรการเลื่อนชำระหนี้ มาใช้ยาขนานที่ 2

หลังจากมาตรการช่วยเหลือของโครงการเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 พบว่าผลของมาตรการช่วยเหลือมีประเด็นเชิงพฤติกรรมในหลายมิติที่น่าสนใจ และถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการออกแบบมาตรการช่วยลูกหนี้ของสถาบันการเงินในระยะต่อไป กล่าวคือ

(1) ลูกหนี้เลือกที่จะเลื่อนกำหนดชำระค่างวด หรือเลือกที่จะใช้ยาขนานแรกมีจำนวนเพียง 28% แม้ว่าโครงการกำหนดให้เป็นสิทธิสำหรับลูกหนี้ทุกรายให้สามารถเลือกที่จะเลื่อนกำหนดชำระหนี้ หรือไม่ต้องจ่ายค่างวดได้ โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้

(2) ลูกหนี้ที่ยังคงชำระค่างวดเข้ามามีจำนวนสูงถึง 72% ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วย ลูกหนี้ที่ชำระหนี้เข้ามาสูงกว่าค่างวดปกติ 18% (ซึ่งเงินส่วนที่ชำระไว้เกินค่างวดจะถูกนำไปตัดเงินต้นทำให้หมดหนี้เร็วขึ้น) และลูกหนี้ที่ชำระหนี้เต็มจำนวนค่างวด 52% ในขณะที่มีลูกหนี้ส่วนน้อยเพียง 2% เท่านั้น ที่ชำระหนี้ได้บางส่วน โดยจำนวนเงินต่ำสุดที่ชำระเข้ามา คือ 100 บาท

(3) โครงการคลินิกแก้หนี้มีการสื่อสารอย่างชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือให้สามารถเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ ควบคู่ไปพร้อมๆ กับมาตรการลดดอกเบี้ย 2% สำหรับลูกหนี้ที่จ่ายค่างวดเข้ามาในช่วง 6 เดือนนี้ ช่วยให้โครงการสามารถตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ทั้งกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ และกลุ่มที่ยังคงมีความสามารถชำระหนี้ได้ และที่สำคัญ การลดดอกเบี้ย 2% ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพไม่เลือกที่จะพักชำระหนี้ และยังคงชำระค่างวดเข้ามาตามปกติ ซึ่งช่วยลดความกังวลด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ยา 2 ขนานของโครงการคลินิกแก้หนี้ สามารถตอบโจทย์ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ไปพร้อมๆ กัน ในด้านการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจช่วง COVID-19


กำลังโหลดความคิดเห็น