ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เผยแพร่ข้อมูลวิจัย บริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นฟูกิจการนับจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเป็นการสะท้อนบทเรียนความเสียหายการลงทุนในหุ้นที่ผ่านการฟื้นฟูกิจการ และนักลงทุนควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง
ฝ่ายวิจัย "ทิสโก้" ระบุว่า นับจากปี 2540 มีบริษัทจดทะเบียนยื่นขอฟื้นฟูกิจการรวม 52 บริษัท แต่ฟื้นฟูฯ ไม่สำเร็จ ถูกขับพ้นสภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียน 20 บริษัท อยู่ระหว่างขั้นตอนการฟื้นฟูฯ 9 บริษัท และฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้น หุ้นกลับมาซื้อขายแล้ว 23 บริษัท
หุ้นที่ฟื้นฟูกิจไม่สำเร็จ 20 บริษัท ถูกตะเพิดออกจากตลาดหุ้นนั้น นักลงทุนทำพิธีฝัง อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ทำใจแบกรับความเสียหายไปแล้ว ส่วน อีก 9 บริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูฯ กำลังรอดูอยู่ว่า จะเป็นลูกผีหรือลูกคน จะปลุกให้ฟื้นได้หรือไม่ จะแต่งตัวกลับมาซื้อขายอีกได้หรือเปล่า
สำหรับหุ้นที่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ 23 บริษัท และได้กลับมาซื้อขายอีกครั้ง ถูกตั้งฉายา เป็นหุ้นกลุ่มผีดิบคืนชีพ หรือหุ้น ”ซอมบี้” เพราะมีหลายตัวที่ผ่านการฟื้นฟูฯ แล้ว แต่ต้องกลับเข้าฟื้นฟูใหม่เป็นรอบสอง และมีบางตัวฟื้นฟูเป็นรอบที่สาม โดยสร้างความเสียหายให้นักลงทุนอย่างซ้ำซาก
เพราะก่อนฟื้นฟูฯ รอบแรก ราคาหุ้นทรุดหนัก แทบจะเหลือศูนย์ก็มี แต่หลังฟื้นฟูฯ หุ้นกลับเข้ามาซื้อขายใหม่ ราคาถูกลากขึ้นอย่างโลดโผนโจนทะยาน ผู้บริหารบริษัทฯ คุยโม้โอ้อวด เข้าข่ายการโฆษณาชวนเชื่อถึงแนวโน้มผลประกอบการ กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไร
แต่สุดท้ายบริษัท “เจ๊ง” รอบสอง ราคาหุ้นดิ่งลง สร้างความเสียหายให้นักลงทุนในวงกว้างมากกว่าการเจ๊งรอบแรกเสียอีก
ผลสำรวจฝ่ายวิจัย “ทิสโก้” พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ 23 ราย จนหุ้นกลับมาซื้อขายได้อีกครั้ง ใช้เวลาการฟื้นฟูฯ ตั้งแต่ 1 ปี และบางบริษัทใช้เวลาฟื้นฟูฯ ถึง 18 ปี เช่นบริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APEX ซึ่งตามหลักตลาดหลักทรัพย์น่าจะไล่ไปแจ้งเกิดใหม่นอกตลาดมากกว่า เพราะใช้เวลาฟื้นฟูฯ ที่ยาวนานเกินไป
ปัญหาสำคัญของหุ้นกลุ่มผีดิบคืนชีพคือ ราคาหุ้นวันแรกที่กลับเข้ามาซื้อขายใหม่ ซึ่งพุ่งทะยานเฉลี่ยประมาณ 30 เท่า หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3,000% จากราคาปิดครั้งสุดท้ายก่อนถูกแขวนป้ายเอสพี พักการซื้อขายหุ้นและถูกจับเข้ากลุ่มฟื้นฟูกิจการ
เพราะหุ้นผีดิบคืนชีพเหล่านี้มักจะกลับมาพร้อมกับการสร้างภาพ กลายเป็นบริษัทที่มีอนาคตสดใส มีกระบวนการโฆษณาว่า จะเป็นหุ้นเทิร์นอะราวนด์ และ มีนักวิเคราะห์บางคนทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่หลังจากกลับมาซื้อขายใหม่ได้ไม่นาน จะเริ่มออกลายเดิม โดยผลประกอบการไม่เติบโตตามที่ผู้บริหารคุยโม้ไว้ ราคาหุ้นทรุดลง ฐานะการเงินย่ำแย่ และหลายบริษัทล้มสลายกลายเป็นซาก ต้องกลับไปฟื้นฟูฯ ใหม่
ปัจจุบันหุ้นกลุ่มผีดิบคืนชีพรวม 23 บริษัท ราคาหุ้นลดลงประมาณ 75% เมื่อเทียบกับราคาวันแรกที่กลับมาซื้อขาย และหลายบริษัทกลับลงหลุมไปอีกครั้ง ต้องฟื้นฟูในรอบที่สอง โดยกำลังแต่งตัวเพื่อกลับมาซื้อขายในหุ้นเป็นครั้งที่สาม
นักลงทุนที่หลวมตัวเข้าไปเล่นหุ้นกลุ่มผีดิบคืนชีพ ส่วนใหญ่เจ็บตัว ติดหุ้นอยู่จนถึงวันนี้
บทวิจัยของ “ทิสโก้” สะท้อนถึงหายนะของการเล่นหุ้นกลุ่มฟื้นฟูฯ และน่าจะทำให้นักลงทุนขยาดหุ้นในกลุ่มฟื้นฟูกิจการบ้างล่ะ
ไม่เฉพาะหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เท่านั้น แต่รวมถึงหุ้นผีดิบคืนชีพอีกหลายตัว ที่กำลังรอตลาดหลักทรัพย์ ”ปล่อยผี” เปิดให้กลับมาซื้อขายใหม่