xs
xsm
sm
md
lg

"สรรพากร" เผย 7 เดือนสูญรายได้กว่า 7 หมื่นล้านบาท เหตุอัดสารพัดมาตรการลดภาระผู้เสียภาษีช่วงโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อธิบดีกรมสรรพากร" ระบุ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบฯ 63 สูญเสียรายได้ไปแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท เหตุจากการจัดทำมาตรการช่วยผู้เสียภาษีเพิ่มสภาพคล่อง-ลดภาระรายจ่ายในการเสียภาษีให้ประชาชนและสถานประกอบการแล้ว แต่ยังสรุปไม่ได้ทั้งปีงบฯ 63 จะหลุดเป้าเท่าไหร่ เพราะยังต้องรอดูการยื่นแบบภาษีช่วงเดือน ส.ค.63 ด้วย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงผลการจัดเก็บภาษีในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-เม.ย.63) ว่า กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ไปแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลให้ปีงบประมาณ 63 จากที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บรายได้ตลอดปีงบประมาณ 63 ต่ำกว่าเป้าที่เคยตั้งไว้ที่กว่า 2.11 ล้านล้านบาท

ส่วนรายได้ที่จัดเก็บตลอดปีงบฯ 63 จะต่ำกว่าเป้าเป็นจำนวนเท่าใดนั้น อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากยังต้องรอพิจารณาประกอบกับการยื่นแบบภาษีในช่วงเดือน ส.ค.63 ด้วย อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้รายงานการสูญเสียรายได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รับทราบแล้ว แต่ยังไม่มีการพิจารณาปรับลดเป้าจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 64

สำหรับสาเหตุที่ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บในช่วง 7 เดือนแรกต่ำเป้าว่า เป็นผลมาจากการที่กรมออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะประกอบด้วยการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ การนำส่ง และการชำระภาษีอากร ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล พร้อมกันนี้ สรรพากรยังได้เร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วกว่า 95% จากผู้ขอคืนภาษีโดยรวม 3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าภาษีที่ขอคืนราว 28,000 ล้านบาท

รวมถึงยังมีมาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1.5% จาก 3% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.63 และการดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย (e - Withholding Tax) กรมสรรพากรได้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายลงเหลือ 2% จาก 3% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-31 ธ.ค.2564 ที่จ่ายผ่านระบบ e - Withholding Tax


กำลังโหลดความคิดเห็น