หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานยอดขายในไตรมาส 1 ปี 2563 รวม 2.68 ล้านล้านบาท ลดลง 4.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิ 98,524 ล้านบาท ลดลง 60.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยหมวดธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสงครามราคาน้ำมัน ได้แก่ หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งหากไม่รวม 2 หมวดดังกล่าว จะมีกำไรสุทธิลดลงเพียง 25.2%
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลักทรัพย์จดทะเบียน จำนวน 671 หลักทรัพย์ หรือคิดเป็น 97.25% จากทั้งหมด 690 หลักทรัพย์ (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่ขอผ่อนผันส่งงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2563 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG) นำส่งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 พบว่าหลักทรัพย์ที่รายงานผลกำไรสุทธิมีจำนวน 470 หลักทรัพย์ คิดเป็น 70.0% ของหลักทรัพย์จดทะเบียนที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2563 หลักทรัพย์จดทะเบียนมียอดขายรวม 2.68 ล้านล้านบาท ลดลง 4.3% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core operating profit) 124,929 ล้านบาท ลดลง 52.6% และมีกำไรสุทธิ 98,524 ล้านบาท ลดลง 60.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยข้างต้นทำให้ดัชนีชี้วัดความสามารถการทำกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในทางเดียวกัน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) ลดลงจาก 22.2% เป็น 18.9% มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit margin) ลดลงจาก 9.4% เป็น 4.7% และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) ลดลงจาก 8.9% เป็น 3.7%
“ในไตรมาส 1 ปี 2563 หลักทรัพย์จดทะเบียนไทยได้รับผลกระทบทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ โดยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปี 2562 ทำให้เกิดปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาดและเกิดสงครามราคาน้ำมันจากกลุ่มผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ทำให้หลักทรัพย์ในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ซบเซา ทำให้การบริการจัดการยอดขายและต้นทุนการตลาดเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก จึงกระทบต่อกำไรจากการดำเนินงานหลักและกำไรสุทธิให้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน” นายแมนพงศ์ กล่าว
จากผลประกอบการที่อ่อนตัวลง บริษัทจดทะเบียนจึงมีการจัดหาสภาพคล่องสำรองมากขึ้น มีการใช้หนี้สินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.53 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 สูงขึ้นจาก 1.27 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562
หมวดธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานเติบโตได้ดี คือ หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้ผลบวกทั้งด้านยอดขายและอัตรากำไรที่สูงขึ้น เช่น อาหารสด และปศุสัตว์ รวมถึงเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ซึ่งเติบโตจากสินเชื่อส่วนบุคคล และหมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ได้ผลบวกจากต้นทุนวัตถุดิบลดลง
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน mai จำนวน 153 บริษัท คิดเป็น 91% จากทั้งหมด 169 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC บริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด บริษัทที่ส่งงบไม่ทันตามกำหนด และบริษัทที่ขอผ่อนผันการนำส่งงบการเงินจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) นำส่งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยมียอดขายรวม 42,132 ล้านบาท ลดลง 1.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต้นทุนรวม 33,348 ล้านบาท ลดลง 0.84% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 21.42% มาอยู่ที่ 20.85% กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) 1,455 ล้านบาท ลดลง 27.51% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิรวม 717 ล้านบาท ลดลง 58.58% อย่างไรก็ดี บจ. ที่รายงานผลกำไรสุทธิมีจำนวน 102 บริษัท คิดเป็น 67% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด
"ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2563 ของ บจ. mai ปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดขายลดลง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรลดลงโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงมีการเติบโตทั้งยอดขายและกำไรสุทธิ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร
เมื่อพิจารณาฐานะทางการเงิน ณ ไตรมาสแรก ปี 2563 บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 272,427 ล้านบาท โครงสร้างเงินทุนรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.10 เท่า ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 1.03 เท่า" นายประพันธ์ กล่าว